Polygon: เรือธง Ethereum Scaling
ทุก ๆ คนที่ลงทุนกับคริปโตเคอร์เรนซีน่าจะรู้จัก Ethereum ดีนะครับ หลาย ๆ คนจะทราบว่า Ethereum เป็นคริปโตเคอร์เรนซีที่มีมูลค่าตลาด (market capitalization) สูงเป็นอันดับสอง รองจากเพียง Bitcoin เท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้ Ethereum มีความโดดเด่นนั่นคือการมี smart contract ซึ่งทำให้นักพัฒนาสามารถออกแบบโปรแกรมให้มีความหลากหลายทางการใช้งานได้ และทำให้บนบล็อกเชนของ Ethereum มี DApp เกิดขึ้นจำนวนมาก และมีการใช้งานที่แพร่หลายครับ แต่ Ethereum เองก็ยังมีข้อจำกัดในแง่ของค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม (gas fee) ที่ค่อนข้างแพง ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้หลาย ๆ คนลังเลที่จะใช้งาน Ethereum และย้ายไปใช้งานบล็อกเชนอื่นแทน
เมื่อหลาย ๆ คนเห็นจุดอ่อนตรงนี้ของ Ethereum จึงมีความพยายามในการสร้างบล็อกเชนตัวใหม่ ที่อ้างอิงความเป็นไปของ Ethereum แต่ใช้ลูกเล่นบางอย่าง เพื่อช่วยลดค่าธรรมเนียมที่ผู้ใช้งานต้องจ่ายจากการทำธุรกรรม ซึ่งในปัจจุบันก็มีโปรเจกต์หลาย ๆ อันที่กำลังพัฒนาบล็อกเชนรูปแบบนี้ ที่เราเรียกกันว่า Ethereum Scaling Solutions อยู่ครับ และหนึ่งในโปรเจกต์ที่มีศักยภาพสูง และมีการใช้งานที่แพร่หลายที่สุด ก็คือ Polygon นั่นเอง วันนี้ผมจะพาทุกคนมารู้จักกับ Polygon กันครับ ซึ่งแอบบอกไว้ก่อนเลยว่าโปรเจกต์นี้มีอะไรมากกว่าที่ทุก ๆ คนคิดแน่นอนครับ
What is Polygon?
หลาย ๆ คนที่เคยใช้งาน Polygon network อาจจะคิดว่า Polygon คือบล็อกเชนอันหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วตัว Polygon ไม่ได้เป็นบล็อกเชนหนึ่งบล็อกเชน แต่เป็นโปรเจกต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับการใช้งาน Ethereum network ในด้านความเร็วและความถูก (หลาย ๆ คนน่าจะทราบดีว่าค่าธรรมเนียมของ Ethereum นั้นค่อนข้างแพง) โดยที่ยังคงความปลอดภัยอยู่อย่างเดิม ส่วนบล็อกเชนที่เราใช้ ๆ กัน คือส่วนหนึ่งของโปรเจกต์เท่านั้นครับ ยังมีเทคโนโลยีอีกหลายอย่างที่ทั้งอยู่เบื้องหลังบล็อกเชนที่เราใช้ หรืออยู่ในอีก “สายการผลิต” ของ Polygon ดังนั้น Polygon มีอะไรมากกว่าที่หลาย ๆ คนคิดภาพไว้แน่นอน
Architecture
Polygon เปรียบเสมือน top-up layer ที่นำไปวางอยู่บน Ethereum ครับ โดยแบ่งออกเป็น 4 ชั้นย่อยด้วยกัน
- Ethereum ก็คือบล็อกเชน Ethereum ที่เราใช้กันอยู่ปกตินี่แหละครับ โดย Polygon จะไปทำงานอยู่บน Ethereum อย่างที่กล่าวไปข้างต้น และมีการคำนวณบางอย่างที่ใช้งานโปรแกรมจาก Ethereum โดยตรง อย่างเช่นโปรแกรมในด้านความปลอดภัยของโปรโตคอลและวิธีการเขียนบล็อกใหม่ เนื่องจากทีมงาน Polygon เชื่อว่า Ethereum มีความปลอดภัยสูงมากนั่นเองครับ
- Security layer เป็นชั้นของฝั่ง Polygon ที่จะมีผู้ตรวจสอบ (validator) คอยตรวจสอบความถูกต้องของตัว Polygon chain โดยแลกกับรางวัลบางอย่าง ซึ่งชั้นนี้จะเป็นชั้นที่เน้นการตรวจสอบด้านความปลอดภัย เช่นเดียวกันกับ Ethereum ในข้อด้านบน ซึ่งบล็อกเชนภายใน Polygon สามารถเลือกได้ว่าจะอ้างอิงความปลอดภัยจาก Ethereum หรือจะใช้ Security layer ครับ
- Polygon Networks layer เป็นชั้นของบล็อกเชนต่าง ๆ ที่ถูกสร้างภายใน Polygon (ด้วย Polygon SDK) ซึ่งแต่ละบล็อกเชนก็จะมีฟังก์ชันการทำธุรกรรม / ตรวจสอบธุรกรรม / และเขียนบล็อกใหม่ เป็นของตัวเอง ซึ่งก็สามารถเชื่อมต่อกับ Polygon network ตัวอื่น ๆ ได้เช่นกัน
- Execution layer เป็นชั้นที่ใช้งาน smart contract ทั้งภายในบล็อกเชน Polygon ของตัวเอง และระหว่างบล็อกเชน Polygon อื่น ๆ
ซึ่งนักพัฒนาก็สามารถพัฒนาบล็อกเชนของตัวเองให้สามารถใช้งานร่วมกับบล็อกเชนอื่น ๆ ที่ถูกสร้างด้วยเทคโนโลยีของ Polygon ได้ ผ่าน Polygon SDK (software development kit) ซึ่งข้างในก็จะมีฟังก์ชันที่ช่วยให้เชื่อมต่อกับ ecosystem ได้สะดวกครับ
Products
Polygon PoS Chain
คือบล็อกเชนของ Polygon ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ครับ แต่เดิมบล็อกเชนนี้มีชื่อว่า Matic Network (จริง ๆ ตอนเริ่มสร้าง Polygon ทีม co-founders ตั้งชื่อโปรเจกต์ว่า Matic) ซึ่งก็แน่นอนว่าถูกสร้างขึ้นโดยทีมงาน Polygon เอง มีลักษณะเป็น Proof-of-Stake (PoS) blockchain ที่ทำงานคู่ขนานไปกับ Ethereum ในลักษณะ top-up layer และจะมีการสื่อสารกับ Ethereum อยู่ตลอด ดังนั้นจึงมีความปลอดภัยของบล็อกเชนแบบเดียวกันกับ Ethereum แต่มีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าหลายเท่า โดยตัวบล็อกเชนจะประกอบด้วย 3 layer ด้วยกัน
- Ethereum layer ซึ่งเป็นบล็อกเชนแม่ของ Polygon PoS chain ที่ตัว PoS chain จะบันทึกรายละเอียดธุรกรรมต่าง ๆ และอ้างอิงคุณสมบัติด้านความปลอดภัยจาก Ethereum
- Heimdall layer เป็นชั้นที่ประกอบด้วย Polygon validator ทั้งหมด 100 nodes โดย validator จะต้องทำการวาง (stake) Matic ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชน Polygon เพื่อรับสิทธิ์ในการตรวจสอบธุรกรรมต่าง ๆ
- Boar layer เป็นชั้นที่จะเกิดการเขียนบล็อกใหม่ขึ้น โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในการเขียนบล็อกจะถูกสุ่มเลือกจาก Heimdall layer และในหนึ่งช่วงเวลาจะมีจำนวน validator อยู่บน Boar layer ประมาณ 7–12 nodes ครับ
ซึ่งธุรกรรมทั้งหมดบน Polygon PoS chain จะเกิดขึ้นที่ Boar layer ครับ (สายโซ่บล็อกเชนทั้งหมดจะอยู่บน layer นี้) ส่วน Heimdall layer จะทำหน้าที่ “capture ข้อมูลธุรกรรม” จาก Boar เพื่อส่งไปยัง Ethereum ครับ
ซึ่งการมี snapshot ของประวัติการทำธุรกรรม แปลว่าถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับตัว Boar layer แล้วทำให้ network ล่ม ข้อมูลเหรียญของกระเป๋าแต่ละกระเป๋าหายไป เรายังสามารถดึงภาพ snapshot ล่าสุดที่ถูกส่งไปยัง Ethereum เพื่อใช้อ้างอิงมูลค่าสินทรัพย์ของแต่ละกระเป๋าได้ครับ
เนื่องจาก Boar layer มีจำนวน validator อยู่ที่ 7–12 จึงทำให้ Polygon PoS chain มีความเร็วในการประมวลผลธุรกรรมที่สูงมาก ๆ โดยอ้างอิงจากเว็บของ Polygon สามารถประมวลผลได้มากถึง 65,000 transactions per second (tps) เลยครับ แต่ก็แน่นอนว่าการมี validator น้อยก็ส่งผลต่อความกระจายศูนย์ (decentralization) ของบล็อกเชนที่น้อยลงเช่นกันครับ
นอกจากนี้ Polygon PoS chain ยังถูกพัฒนาให้รองรับมาตรฐาน ERC หลัก ๆ เช่นเดียวกันกับ Ethereum และมีคุณสมบัติ EVM compatibility นั่นแปลว่า DApp ที่ถูกพัฒนาโดยใช้งาน smart contract บน Ethereum สามารถถูกเปิดใช้งานใหม่บน Polygon PoS chain ได้ทันทีครับ
Hermez
เป็นอีกหนึ่ง Ethereum layer-2 scaling solution ของ Polygon ที่ใช้เทคโนโลยี Zero-Knowledge Rollup (zk-Rollup) ครับ จุดเด่นของ Hermez ที่ใช้ zk-Rollup คือการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำธุรกรรมนอกบล็อกเชน (off-chain transactions) เนื่องจาก zk-Rollup เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มจำนวนธุรกรรมที่ประมวลผลได้ในหนึ่งวินาที ด้วยการมัด (bundle) ธุรกรรมหลาย ๆ อันไว้ด้วยกัน แล้วทำการตรวจสอบ (validate) ครั้งเดียว ทำให้ความเร็วในการประมวลผลเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ใน Hermez จะมี coordinators ซึ่งเป็นผู้ที่คอยยืนยัน Zero-Knowledge (ZK) proof และคอยเขียนบล็อกใหม่ ๆ เรื่อย ๆ ครับ โดยในกลุ่ม coordinators จะมี boot coordinator ซึ่งเป็น coordinator ที่รับหน้าที่พิเศษในการสร้างกลุ่มก้อน (batch) ของธุรกรรม ซึ่งจะถูกนำไปตรวจสอบต่อไปตามขั้นตอนของ zk-Rollup โดยการจะเป็น boot coordinator ได้จะต้องทำการประมูลแข่งกับ coordinators เจ้าอื่น ๆ โดยการเสนอมูลค่าเป็นเหรียญ HEZ ซึ่งเป็น ERC-20 token (อย่าลืมว่า Hermez run อยู่บน Ethereum) และเป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Hermez ครับ โดยผู้ที่เสนอ HEZ มูลค่าสูงสุดจะได้สิทธิ์ในการเป็น boot coordinator ในส่วนของ HEZ ที่ถูกเสนอมา จะถูกแบ่งไปใช้งานต่อดังนี้
- 40% จะถูกโอนไปยัง donation account ซึ่งเจ้าของคือ Ethereum foundation (ซึ่งจะถูกนำไปใช้ทำอะไรต่อก็แล้วแต่ทาง foundation ครับ)
- 30% จะถูกเก็บไว้เป็นค่าตอบแทนและแรงจูงใจอื่น ๆ ภายใน Hermez ในอนาคต เช่น จะถูก airdrop ให้กับคนที่ถือ HEZ หรือเหรียญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคนที่ทำธุรกรรมบ่อย ๆ ครับ
- 30% จะถูก burn
ซึ่งสิทธิ์ในการเป็น boot coordinator จะแบ่งเป็นรอบ ๆ (slot) ครับ (เมื่อจบ 1 รอบ ก็จะมาประมูลกันใหม่) ซึ่งในปัจจุบันแบ่งเป็นรอบละ 10 นาที การประมูลในแต่ละ slot จะปิดก่อน slot นั้น ๆ จะเริ่ม 2 slots และในปัจจุบันจะเปิดให้ประมูล 6 slot ล่วงหน้า (รวมแล้วก็ 1 ชั่วโมง) ครับ เนื่องจากจะต้องทำการประมูล HEZ เรื่อย ๆ ดังนั้นจึงลดโอกาสในการควบคุมบล็อกเชนของ coordinator เจ้าใดเจ้าหนึ่ง จากการเป็น boot coordinator ต่อเนื่องไปได้นั่นเอง
ในปัจจุบันมีการปล่อย version 1.0 ออกมาให้ใช้งานตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 และในปัจจุบัน Polygon กำลังพัฒนา Hermez 2.0 อยู่ครับ และสำหรับใครที่สนใจอยากทดลองใช้งานก็สามารถเข้าไปที่ wallet.hermez.io และทำการเชื่อมต่อ Metamask หรือ WalletConnect และใช้งาน Hermez ได้เลยครับ
Nightfall
เป็น Ethereum scaling solution อีกหนึ่งตัวของ Polygon พัฒนาร่วมกับ EY ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก ใช้งานเทคโนโลยี Optimistic Rollup และ Zero-Knowledge Proof (ZK) โดยถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานระดับองค์กร (enterprises) ครับ ดังนั้น Nightfall จะถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงข้อกฎหมาย (compliance) ต่าง ๆ ผ่านการทำ Know Your Customer (KYC) และการตรวจสอบ entity ต่าง ๆ ในบล็อกเชนโดยผู้ใช้งานจะต้องมีรายชื่ออยู่ใน whitelist จึงจะสามารถทำธุรกรรมได้
ในส่วนของการใช้งาน Nightfall มีเป้าหมายให้ใช้งาน token ที่อยู่บน Ethereum และถูกสร้างขึ้นตามมาตรฐาน ERC-20 / ERC-721 หรือ ERC-1155 ได้ ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง และมีการเพิ่ม feature เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว (privacy) เข้ามาด้วยครับ ซึ่งการพัฒนา Nightfall network ก็จะมาพร้อมกับ software development kit (SDK) และ non-custodial wallet ของตัวเอง เพื่อให้สามารถใช้งานได้สะดวก และพัฒนาแอพพลิเคชันต่าง ๆ บนเครือข่ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้นครับ
โดยโครงสร้างของ Nightfall จะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด 4 ส่วนด้วยกัน
- Transactor คือผู้ใช้งานทั่วไปที่ทำธุรกรรมส่งเหรียญต่าง ๆ
- Block Proposers คือคนที่คอยตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรม และทำ rollup (มัดรวมธุรกรรมหลาย ๆ อันเข้าด้วยกัน แล้วเขียนเป็นบล็อกใหม่)
- Challengers คือคนที่คอยตรวจสอบการเขียนบล็อกใหม่ของ Block Proposers และถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบล็อกใหม่ที่ถูกเขียนขึ้นมีจุดที่ผิดพลาด ก็จะได้รับรางวัล
- Liquidity Providers คือคนที่ฝากเหรียญ ซึ่งเป็น fungible token เอาไว้กับ protocol ซึ่งในกรณีที่ผู้ใช้งานทั่วไปต้องการจะถอนเหรียญออกมาในทันที ก็จะสามารถถอนออกมาจาก pool ตรงนี้ก่อนได้ ซึ่ง Liquidity Providers ก็จะได้รับค่าตอบแทนด้วยครับ
ปัจจุบัน Nightfall เปิดให้ใช้งาน testnet แล้ว ส่วนตัว mainnet กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา และจะเปิดให้ใช้งานภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 ครับ
Miden
เป็นอีกหนึ่ง EVM-compatible Rollup scaling solutions ของ Ethereum ครับ โดยเกิดขึ้นมาหลังจาก Hermez และ Nightfall หลังจากทีมงาน Polygon พบว่าเทคโนโลยี ZK Rollup ยังมีจุดอ่อนในการกำหนดตรรกะต่าง ๆ ในการเขียน smart contract (จะไม่สามารถเขียนตรรกะที่มีความซับซ้อนได้) ดังนั้น Miden จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็น ZK Rollup scaling solution ที่สามารถ “เขียนตรรกะอะไรก็ได้” ครับ โดยมีการสร้าง Miden Virtual Machine (MidenVM) ซึ่งเป็น virtual machine ที่ทางทีม Polygon มีการพัฒนาเพิ่มเติมด้วยตัวเอง
ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องการเขียนตรรกะที่ซับซ้อนแล้ว ในการสั่งโปรแกรมทำงานแต่ละครั้ง ตัว MidenVM จะสร้างหลักฐานของการทำงานครั้งนั้น ๆ ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ และทำการเก็บหลักฐานดังกล่าวไว้ และเมื่อผู้ใช้งานต้องการจะตรวจสอบความถูกต้องของการทำงานในอดีต ก็สามารถตรวจสอบจากหลักฐานได้เลย ไม่ต้องสั่งโปรแกรมทำงานใหม่อีกครั้งครับ
ปัจจุบัน Miden กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาครับ กำหนดการปล่อยใช้งานจริงยังไม่ได้ชัดเจนมากนัก แต่ทีม Polygon คาดว่าน่าจะปล่อยให้ใช้งานจริงได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2023 ครับ
Avail
เป็นเทคโนโลยีตัวใหม่ของ Polygon ที่จะเน้นความเข้าถึงได้ (availability) ของข้อมูลบนบล็อกเชนครับ
ปัญหาเรื่อง Data Unavailability เป็นประเด็นที่จะเจอได้บ่อย ๆ ในบล็อกเชนที่ใช้เทคโนโลยี ZK-Rollup เนื่องจาก ZK-Rollup เป็นการ submit หลักฐานรายการธุรกรรมทั้งหมดที่อยู่ใน rollup แต่ก็ไม่ได้บอกถึงรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงของจำนวนโทเคนต่าง ๆ ใน wallet address แต่ละกระเป๋า ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปกระเป๋าละเท่าไหร่ เนื่องจากบล็อกเชนในปัจจุบันอาจจะมี node ที่มีลักษณะเป็น light client (เก็บข้อมูลบล็อกเชนแค่บางส่วน) ไม่ได้เป็น full node ที่เก็บข้อมูล ทั้งบล็อกเชนเอาไว้ อยู่ทั่วไป ซึ่ง light client มีโอกาสที่จะถูกบิดเบือนข้อมูลธุรกรรม ในกรณีมีธุรกรรมที่ผิดปกติถูกแทรกเข้าไปในบล็อกใหม่ และ full node ไม่สามารถตรวจเจอได้ (กรณี block producer ที่เขียนบล็อกปัจจุบัน ทำการแทรกธุรกรรมที่ผิดปกติเข้าไปในบล็อกใหม่ แต่จงใจซ่อนข้อมูลธุรกรรมดังกล่าวไว้ ก็จะหาธุรกรรมนั้นไม่เจอ และไม่สามารถตรวจสอบว่าผิดได้) ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่การเขียนบล็อกใหม่โดยมีธุรกรรมที่ผิดปกติถูกเขียนเข้าไปด้วยครับ สิ่งที่ Avail ทำคือให้ light client ทำการสุ่มข้อมูลเล็ก ๆ บางส่วนของแต่ละบล็อกและด้วย light client จำนวนหนึ่งก็จะสามารถสุ่มข้อมูลได้ครบทั้งบล็อกทำให้ไม่สามารถซ่อนธุรกรรมที่ผิดปกติเอาไว้ได้อีกครับ
ปัจจุบัน Avail กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่งน่าจะเปิดให้ใช้งานได้ภายในสิ้นปี 2022 ครับ
Polygon ID
เป็นระบบระบุตัวตนผู้ใช้งานแบบกระจายศูนย์ (decentralized identity) ที่ใช้เทคโนโลยี Zero-Knowledge proof (ZK) ครับ ปัจจุบันในวงการ DeFi ทุกคนน่าจะทราบกันดีว่าเราจะไม่สามารถระบุตัวตนของกระเป๋าเงินดิจิทัลแต่ละกระเป๋าได้ ซึ่งประเด็นนี้จะมีปัญหาในหลาย ๆ อย่าง เช่นการแจก airdrop หรือการให้สิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ ที่ทางผู้แจกเองก็ไม่อยากจะแจกโทเคนให้กับคน ๆ เดียวกันซ้ำซ้อน จะให้ไปใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบรวมศูนย์ มีคนกลางที่คอยตรวจสอบ ก็จะลดทอนคุณค่าของบล็อกเชนลงไปอีก ปัญหานี้มีมานานแล้วครับ และยังไม่มีใครสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
Polygon ID ใช้งาน ZK ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ โดยไม่จำเป็นต้องทราบเนื้อหาของข้อมูลนั้น ๆ ซึ่งในท้ายที่สุด จะทำให้ แต่ละคนสามารถเคลมความถูกต้องของข้อมูลส่วนบุคคลได้ โดยที่ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเองจะยังไม่หายไปไหนครับ
MATIC
MATIC เป็นโทเคนประจำบล็อกเชน Polygon PoS Chain ครับ โดยมีอุปทานสูงสุด (maximum supply) อยู่ที่ 10,000 ล้านเหรียญ โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
- ในช่วง private sale มีการขาย MATIC ไปทั้งหมด 3.8% ของปริมาณทั้งหมด
- ถัดมาคือการทำ Initial Exchange Offering (IEO) ซึ่งทำผ่าน Binance launchpad โดยมูลค่าที่ขายไปคิดเป็นประมาณ 19% ของปริมาณทั้งหมด
- 16% ถูกแบ่งให้กับทีม Polygon
- 4% ถูกแบ่งให้กับทีมที่ปรึกษาของโปรเจกต์ซึ่งมาจาก Decentraland และ Coinbase
- 12% ถูกสำรองไว้ให้กับ Network Operations
- 21.86% ถูกเก็บไว้กับ Matic Foundation
- 23.33% ถูกเก็บเป็น incentives ให้กับผู้ใช้งาน โดยจะมีการปล่อย MATIC ส่วนนี้ออกมาให้กับ block producer กรณีเขียนบล็อกใหม่สำเร็จเรื่อย ๆ ครับ
ในส่วนของอุปสงค์ (demand) จะมาจากการใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของ PoS Chain และการ stake ครับ โดยเราสามารถ stake MATIC เพื่อรับ MATIC เพิ่มเติมได้ โดยอัตราผลตอบแทนปัจจุบันอยู่ที่ 3.5% ครับ
Concerns
สิ่งหนึ่งที่ทุก ๆ คนควรทราบ คือ Polygon มี co-founders 3 คน และทั้ง 3 คน เป็นคนอินเดียครับ และก็มีผู้ใช้งาน Polygon ไม่น้อยที่เป็นคนอินเดียเช่นกัน อย่างที่ทุก ๆ คนทราบว่าอินเดียเป็นประเทศที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับคริปโตเคอร์เรนซีเท่าไหร่ หลาย ๆ คนน่าจะทราบว่าก่อนหน้านี้ประเทศอินเดียมีความพยายามในการแบนการใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีมาหลายครั้ง และล่าสุดกระทรวงการคลังอินเดียมีการออกกฎหมายเก็บภาษีการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลในอัตราสูงถึง 30% ครับ ปริมาณการใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีในอินเดียกำลังลดลงอย่างมาก และจะส่งผลต่อความต้องการการใช้งาน Polygon และเหรียญ MATIC ค่อนข้างเยอะครับ
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือจำนวนเหรียญ MATIC จะเพิ่มขึ้นจนแตะปริมาณอุปทานสูงสุดภายในระยะเวลา 3 ปีครับ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น Polygon PoS Chain ก็จะไม่มีการแจก MATIC เป็นค่าตอบแทนสำหรับการเขียนบล็อกใหม่อีกต่อไป ซึ่งก็จะลดแรงจูงใจสำหรับ block producers ในการทำงานต่อ และนั่นอาจจะเป็นจุดที่ทำให้ PoS Chain เกิดการถดถอยก็ได้ครับ ซึ่งก็เป็นไปได้สูงว่าในอนาคตจะมีการปรับอัตราการปล่อยเหรียญ MATIC สำหรับการเขียนบล็อก (emission rate) ใหม่ โดยอาจจะยืดเวลาออกไป ก็เป็นได้ครับ แต่ไม่ว่าจะปรับอะไรยังไง ก็จะส่งผลกับราคาของ MATIC แน่นอนครับ
และสุดท้าย Polygon ถูกสร้างขึ้นมาจากช่องโหว่ของ Ethereum ในเรื่องค่าธรรมเนียมที่แพง และความเร็วในการประมวลผลที่ช้าครับ นั่นแปลว่าถ้าในอนาคต Ethereum มีการอัพเกรด แล้วสามารถกำจัดจุดอ่อนที่กล่าวไปได้แล้ว Polygon เองก็อาจจะมีช่วงเวลาที่ลำบากได้ครับ เพราะผู้ใช้งานเองก็อาจจะย้ายกลับไปใช้งาน Ethereum รูปแบบใหม่ที่เร็วและถูกกว่าเดิมนั่นเองครับ
Summary
Ethereum Scaling Solution กำลังเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เนื่องจาก Ethereum ในปัจจุบันยังมีปัญหาในเรื่องค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ค่อนข้างแพง จึงมีหลาย ๆ โปรเจกต์ที่เน้นในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพของ Ethereum ด้วยลูกเล่นต่าง ๆ ซึ่ง Polygon ก็ถือเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ชั้นนำที่กำลังพัฒนาในส่วนนี้อยู่
หลาย ๆ คนพอนึกถึงชื่อ Polygon อาจจะคุ้นเคยกับ Polygon PoS chain ที่เปิดให้เราใช้งานอยู่ทุกวันนี้ พร้อมกับ DApp ที่หลากหลาย เช่น Quickswap, Uniswap, 1inch หรือ Curve Finance แต่หลาย ๆ คนจะไม่ทราบว่า PoS chain เป็นเพียงหนึ่งใน เทคโนโลยีที่ทาง Polygon ปล่อยออกมาให้ใช้งานเท่านั้นครับ ทางทีม Polygon เองกำลังพัฒนา scaling solution อีกหลากหลายรูปแบบ ที่มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป ทำให้ Polygon เป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ
Further Read
Official Website: https://polygon.technology/
Polygon Lightpaper: https://polygon.technology/lightpaper-polygon.pdf
Hermez: https://docs.hermez.io/#start-here-for-hermez-10-documentation
Nightfall: https://polygon.technology/solutions/polygon-nightfall/; https://blog.polygon.technology/polygon-nightfall-webinar-highlight/#:~:text=Polygon%20Nightfall%20is%20a%20one,of%20the%20two%20popular%20technologies.
Polygon ID: https://blog.polygon.technology/introducing-polygon-id-zero-knowledge-own-your-identity-for-web3/
India’s Digital Asset Tax: https://www.indiatoday.in/business/story/crypto-tax-in-india-cryptocurrency-income-tax-1936094-2022-04-11