Solana: บล็อกเชนที่เร็วที่สุด?

Pasin Sirirat
6 min readAug 15, 2022

--

Solana (source: Coingape)

ในปัจจุบันมีบล็อกเชนเกิดขึ้นหลายบล็อกเชนนะครับ แต่บล็อกเชนที่ได้รับความนิยมและสามารถขยายฐานผู้ใช้งานได้ ส่วนใหญ่จะเป็นบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract ครับ smart contract ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปพลิเคชัน (DApp) ที่มีลูกเล่นที่หลากหลายบนบล็อกเชนได้ ทำให้บล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract เป็นที่จับตามองจากนักลงทุนหลาย ๆ คนในมุมโอกาสการเติบโตทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานและปริมาณการทำธุรกรรมครับ

แต่ smart contract เป็นโปรแกรมที่จะมีความซับซ้อนขึ้น ถ้าเทียบกับการทำธุรกรรมโอนโทเคนธรรมดาครับ ในการสั่งทำ smart contract แต่ละครั้ง จะมีต้นทุนในด้านเวลาในการประมวลผลที่สูงขึ้นจากการโอนโทเคนแบบปกติ ทำให้หลาย ๆ บล็อกเชนในปัจจุบันใช้เวลาค่อนข้างนานในการสั่งทำ smart contract ครับ วันนี้ผมจะพาทุกคนมารู้จักกับบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract แต่ใช้เวลาประมวลผลธุรกรรมที่เร็วมาก ๆ และมีค่า gas ที่ถูกอีกด้วย จะทำได้อย่างไรนั้น ไปรู้จักกับ Solana กันครับ

What is Solana?

Solana

Solana คือบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการขยายการใช้งาน (scalability) โดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนา DApp ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพของบล็อกเชน ซึ่งในปัจจุบัน Solana สามารถประมวลผลธุรกรรมได้ 65,000 ธุรกรรมต่อวินาที (ซึ่งทำให้การประมวลผล smart contract ไม่ได้ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการประมวลผลธุรกรรมแบบปกติ) ​ซึ่งเทียบเท่ากับระบบการทำธุรกรรมของ VISA เลยครับ ถือว่าเป็นบล็อกเชนที่เร็วมาก ๆ (และน่าจะเร็วที่สุดแล้วในบรรดาบล็อกเชนทั้งหมด) และหนึ่งในเป้าหมายระยะยาวของ Solana คือการทำให้ตัวบล็อกเชนสามารถประมวลผลธุรกรรมได้ในความเร็วระดับเดียวกันตลาดซื้อขายหุ้นอย่าง NASDAQ ครับ

ในปัจจุบัน บล็อกเชนของ Solana มีชื่อว่า Solana Beach และในปัจจุบันยังเปิดใช้งานในรูปแบบ Mainnet Beta ครับ อ้างอิงจาก Defillama Solana มีมูลค่าสินทรัพย์ (total value locked) กว่า 2.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 5 จากบล็อกเชนทั้งหมด และอ้างอิงจาก Cryptoslam Solana มีมูลค่าซื้อขาย Non-Fungible Token (NFT) เฉลี่ยต่อวันสูงเป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่ Ethereum เท่านั้นครับ

ผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ Solana คือ Anatoly Yakovenko ครับ โดยคุณ Anatoly เคยทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์อยู่ในบริษัท Qualcomm นาน 13 ปี ซึ่ง Qualcomm เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ มีผลิตภัณฑ์ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีเครือข่ายที่เชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือเข้าด้วยกัน และในปัจจุบัน Solana ถูกพัฒนาโดย Solana Labs ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ในสหรัฐอเมริกา และถูกควบคุมดูแลการพัฒนาโดย Solana Foundation ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ครับ

ชื่อ Solana มาจากชื่อชายหาดแห่งหนึ่งในเมืองซานดิเอโก้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ Qualcomm ที่คุณ Anatoly เคยทำงานอยู่ด้วยครับ

จุดเริ่มต้นของ Solana เกิดขึ้นในปี 2017 จากแนวคิดที่ว่าเราสามารถเพิ่มความเร็วให้กับระบบบล็อกเชนได้ด้วยการ timestamp หรือปั๊มเวลาของธุรกรรมแต่ละธุรกรรมได้ครับ ลองนึกภาพเสาสัญญาณสองต้นก็ได้ครับ ถ้าหากทั้งสองต้นปล่อยสัญญาณที่ความถี่เท่ากันออกมาพร้อมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือสัญญาณจากทั้งสองแหล่งจะหักล้างกันหมด สถานีวิทยุจึงแก้ปัญหาด้วยการกำหนดช่วงเวลาการปล่อยสัญญาณของเสาสัญญาณแต่ละต้นครับ เช่น เสาต้นแรก ปล่อยสัญญาณในวินาทีที่ 1 จากนั้นเสาต้นที่สองปล่อยสัญญาณในวินาทีที่ 2 แล้วให้เสาต้นแรกกลับมาปล่อยสัญญาณใหม่ในวินาทีที่ 3 สลับกันไปเรื่อย ๆ ด้วยวิธีการปล่อยสัญญาณแบบนี้ จะทำให้สัญญาณจากเสาทั้งสองต้นไม่หักล้างกันครับ

บล็อกเชนก็ทำงานคล้าย ๆ กับเสาสัญญาณสองต้นครับ หลาย ๆ ครั้งเราจะเห็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมสองคนเขียนบล็อกใหม่พร้อมกัน แต่บล็อกใหม่ทั้งสองบล็อก กลับมีรายละเอียดที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ บล็อกเชนจะแตกออกเป็นสองสายย่อยชั่วคราว จากนั้นบล็อกเชนย่อยที่มีความยาวมากกว่า จะเป็นบล็อกเชนที่ถูกเลือกครับ กลไกการทำงานแบบนี้จะมีข้อเสียตรงที่จะผู้ตรวจสอบ (validator) ที่ดันไปเขียนบล็อกใหม่ในบล็อกเชนย่อยที่ไม่ได้ถูกเลือก ก็จะทำงานตรวจสอบธุรกรรมไปโดยเปล่าประโยชน์ครับ เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุครับ Solana เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ ส่วนจะทำอย่างไรนั้น ไปติดตามกันครับ

Technology

Proof-of-History

จากความตั้งใจที่จะปัญหาเรื่องการสิ้นเปลืองทรัพยากรในกรณีที่มีการแตกบล็อกเชนออกเป็นสองสายย่อย ทำให้ Solana ถูกออกแบบมาให้มี “นาฬิกา” ภายในบล็อกเชนของตัวเองครับ ต้องเล่าว่าบล็อกเชนปกติอย่างของ Bitcoin จะไม่ได้มีการนับความเป็นไปของบล็อกเชนในหน่วยวินาที แต่จะใช้การนับเป็นบล็อก การที่บล็อกเชนมีบล็อกใหม่เกิดขึ้นหนึ่งบล็อก ก็เปรียบเสมือนการที่เข็มวินาทีของนาฬิกาขยับหนึ่งครั้ง ซึ่งในปัจจุบัน “เข็มวินาที” ในบล็อกเชนของ Bitcoin ก็จะขยับทุก ๆ 10 นาทีครับ

อย่างที่เกริ่นไว้ครับว่า Solana มีการปรับโครงสร้างของบล็อกเชนด้วยการ timestamp หรือปั๊มเวลาการเกิดขึ้นของธุรกรรมต่าง ๆ ไว้ ดังนั้น Solana ก็ต้องมีการสร้างนาฬิกาตัวกลางที่ทำงานแบบกระจายศูนย์ (เพื่อไม่ให้มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้อยู่เหนือกาลเวลาในโลกของ Solana) ครับ ซึ่ง Solana ได้มีการใช้งาน SHA256 ซึ่งเป็นกลไกที่ถูกใช้ในบล็อกเชนของ Bitcoin โดยมีแนวคิดที่ว่า SHA256 สามารถถูกดัดแปลงให้เป็นฟังก์ชันที่ทำหน้าที่เป็น “นาฬิกาแบบกระจายศูนย์” บนบล็อกเชนของ Solana ได้ครับ

Proof-of-History (source: Medium)

กลไกที่ทำหน้าที่เป็นนาฬิกาให้กับ Solana คือ Proof-of-History (ซึ่งไม่ใช่กลไกฉันทามติแต่อย่างใด) โดยหลักการคือการเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Verifiable Delay Function เข้าไปใน SHA256 เพื่อให้สามารถ timestamp เวลาลงบนบล็อกภายในบล็อกเชนของ Solana ครับ ซึ่งเมื่อแต่ละบล็อกมีเวลาการเกิดขึ้นของธุรกรรมแล้ว ก็จะทำให้ผู้ตรวจสอบแต่ละคน สามารถทำการตรวจสอบธุรกรรมไปพร้อมกันกับผู้ตรวจสอบคนอื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ตรวจสอบคนอื่น ๆ ทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนครับ เพราะธุรกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะมีลำดับการเกิดขึ้นใช่ไหมครับ ซึ่งการเขียนบล็อกลงบนบล็อกเชน ก็ต้องเขียนตามลำดับที่เกิดขึ้นของแต่ละธุรกรรม ในกรณีบล็อกเชนปกติที่ไม่ได้มีการปั๊มเวลาเข้าไปในข้อมูลธุรกรรม ผู้ตรวจสอบจะต้องมีการรอการตรวจสอบธุรกรรมใด ๆ จากผู้ตรวจสอบคนอื่น (จะไม่สามารถข้ามลำดับการตรวจสอบได้) แต่ใน Solana ผู้ตรวจสอบสามารถหยิบธุรกรรมใด ๆ มาตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องสนลำดับการทำธุรกรรมครับ เพราะธุรกรรมทั้งหมดมีการปั๊มเวลาไว้เรียบร้อยแล้ว จะตรวจสอบธุรกรรมไหนก่อนก็ได้ สุดท้ายก็เรียงลำดับธุรกรรมตามเวลาที่เกิดขึ้นอยู่ดี ดังนั้นการปั๊มเวลาก็ทำให้บล็อกเชนดำเนินไปได้เร็วขึ้น และการออกแบบดังกล่าวทำให้ “เข็มวินาที” ของ Solana ขยับในทุก ๆ 400 มิลลิวินาทีครับ สำหรับใครที่อยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Proof-of-History สามารถอ่านได้ที่ Medium ของคุณ Anatoly ที่นี่เลยครับ

Consensus Mechanism

Solana ใช้งานกลไกฉันทามติ delegated Proof-of-Stake (dPoS) ครับ โดยผู้ที่ต้องการจะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมจะต้องทำการวาง (stake) SOL ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Solana ไว้เป็นหลักประกัน เพื่อรับสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรม และสำหรับคนที่ใช้งานบล็อกเชนของ Solana แต่อาจจะไม่ต้องการทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ สามารถฝาก (delegate) SOL ของตนเองให้กับผู้ตรวจสอบคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน ความพิเศษของบล็อกเชน Solana คือไม่ได้มีการกำหนดปริมาณขั้นต่ำของ SOL ที่ต้องวางเพื่อรับสิทธิ เหมือนกับบล็อกเชนอื่น ๆ ครับ นั่นทำให้ผู้คนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้มีกำลังซื้อสูง ก็สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบของ Solana ได้ อย่างไรก็ดี ปริมาณ SOL ที่แต่ละคนวางเอาไว้ก็จะส่งผลโดยตรงกับโอกาสในการถูกสุ่มเลือกขึ้นมาตรวจสอบธุรกรรมครับ โดยในปัจจุบันบล็อกเชนของ Solana มีจำนวนผู้ตรวจสอบทั้งหมด 1,884 nodes ครับ

ในการสร้างบล็อกใหม่ Solana จะทำการสุ่มเลือกผู้ตรวจสอบเพื่อให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ซึ่งโอกาสในการถูกสุ่มก็แปรผันตามมูลค่า SOL ที่วางไว้ครับ ผู้ตรวจสอบหนึ่งคนจะได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำ 4 บล็อกติดต่อกัน จากนั้นก็จะมีการเปลี่ยนผู้นำใหม่ ด้วยการทำงานรูปแบบนี้ทำให้ยากต่อผู้ตรวจสอบที่ต้องการจะโจมตีหรือบิดเบือนข้อมูลบนบล็อกเชนครับ นอกจากนี้ Solana ยังมีการริบ SOL บางส่วนของผู้ตรวจสอบที่บิดเบือนข้อมูลด้วยครับ (และในอนาคตจะทำการริบ SOL ทั้งหมด)

Clusters

เป็นกลุ่มของผู้ตรวจสอบที่ถูกมอบหมายหน้าที่ให้ทำการตรวจสอบธุรกรรมเฉพาะอย่างครับ ยกตัวอย่างเช่น ในบล็อกเชนของ Solana จะมี cluster ที่ถูกมอบหมายให้ตรวจสอบธุรกรรมของ Raydium ซึ่งเป็นกระดานเทรดคริปโตเคอร์เรนซีใน Solana เพียงอย่างเดียว และอาจจะมีอีก cluster หนึ่งที่ถูกมอบหมายให้ตรวจสอบธุรกรรมของ Solanart ซึ่งเป็นตลาดซื้อ-ขาย NFT บนบล็อกเชนของ Solanaโดยเฉพาะ ทำให้การประมวลผลธุรกรรมบนบล็อกเชนของ Solana มีความรวดเร็วมากขึ้นไปอีกหนึ่งระดับครับ

Partnerships

Arweave

Solana x Arweave (source: Medium)

Solana เป็นบล็อกเชนที่มีจุดเด่นในด้านความเร็วและค่า gas ที่ถูก ทำให้ในหนึ่งวัน มีจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้นมหาศาลครับ นั่นทำให้ขนาดของบล็อกเชนของ Solana มีขนาดใหญ่ขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าบล็อกเชนอื่น ๆ เป็นพิเศษ​ ซึ่งขนาดที่ใหญ่ขึ้นนี้จะส่งผลโดยตรงกับความกระจายศูนย์ (decentralization) ของบล็อกเชน เนื่องจากถ้าหากบล็อกเชนมีขนาดใหญ่มาก ๆ จะมี node บางส่วน ที่อาจจะไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ที่สเปคสูงมาก ๆ ไม่สามารถรองรับบล็อกเชนที่มีขนาดใหญ่ได้ ทำให้เหลือ node ที่สามารถตรวจสอบธุรกรรมได้อยู่ไม่กี่ node ทำให้บล็อกเชนถูกโจมตีได้ง่ายขึ้นครับ

Solana จึงใช้วิธีเก็บข้อมูลบนบล็อกเชนกับ Arweave ซึ่งเป็นโปรโตคอลที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ บนบล็อกเชนของ Arweave ได้ “ตลอดไป” ด้วยการจ่ายค่าซื้อพื้นที่เก็บข้อมูลเพียงครั้งเดียว โดยการจับมือดังกล่าวเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2021 ครับ ก็ทำให้ Solana มีพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่ม และสามารถควบคุมขนาดของบล็อกเชนได้ครับ สำหรับใครที่อยากอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Arweave สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่เลยครับ

Circle (USDC)

USDC on Solana (source: Medium)

Circle เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ทำระบบการจ่ายเงินแบบ peer-to-peer และเป็นบริษัทที่เป็นผู้ออก USDC ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลที่ถูกตรึงมูลค่าไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในอัตราส่วน 1:1 ครับ โดยในปลายปี 2020 Circle ประกาศจับมือกับ Solana และจะดันให้ Solana เป็นบล็อกเชนหลักของ USDC ครับ โดยการจับมือครั้งนี้จะช่วยให้การโอน USDC ของผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันมือถือของ Circle จะโอนผ่านบล็อกเชนของ Solana และจะได้ประโยชน์ในด้านความเร็วและค่า gas ที่ถูกครับ

Products and Apps

Solana Pay

Solana Pay (source: Solana)

เป็นโปรโตคอลที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้นักพัฒนาสามารถเพิ่มฟีเจอร์การชำระเงินในแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนของ Solana ได้ครับ ซึ่งผู้ใช้งานทั่วไปที่มาใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวจะสามารถส่งโทเคนดิจิทัลจากกระเป๋าของตัวเองไปยังกระเป๋าของร้านค้าที่ใช้งาน Solana Pay เหมือนกันได้ในต้นทุนค่า gas ที่ต่ำมาก ๆ ซึ่งการใช้งานหลัก ๆ ก็จะมาจากการชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วย stablecoin อย่าง USDC ที่ได้กล่าวไปข้างต้นครับ

สำหรับร้านค้าที่ใช้งาน Solana Pay ก็จะได้ประโยชน์ในด้านการตัดตัวกลางที่คอยดูแลการชำระเงิน ซึ่งก็อาจจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมเล็กน้อย ทำให้ทางร้านค้าเองมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมา แต่ถ้าใช้งาน Solana Pay ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ และการชำระเงินก็จะมีความเร็วเพิ่มขึ้นด้วยครับ

STEPN

STEPN (source: Bitcoin-Trading.io)

STEPN เป็นแอปพลิเคชันบนมือถือในหมวดหมู่ไลฟ์สไตล์ที่มีลักษณะเป็น GameFi และ SocialFi ครับ เป็นแอปพลิเคชันที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนมาออกกำลังกายด้วยแนวคิด exercise-to-earn ครับ โดยโปรเจกต์นี้ได้รางวัลที่ 4 ในการแข่งขัน Solana Ignition Hackathon ในปี 2021 และได้พัฒนาบนบล็อกเชนของ Solana ครับ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 จำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน STEPN ก็โตทะลุ 1 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้วครับ

รูปแบบการเล่นคือผู้เล่นเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน (มีให้ดาวน์โหลดทั้ง iOS และ Android) แล้ว จะทำการซื้อ NFT ในรูปแบบรองเท้าผ้าใบ ซึ่งรองเท้าแต่ละคู่ก็จะมีค่าพลังที่แตกต่างกันตามระดับความหายากของ NFT นั้น ๆ ครับ จากนั้นเมื่อผู้เล่นมีการขยับร่างกาย (เดินหรือวิ่ง) ตัวแอปพลิเคชันจะจับการเคลื่อนไหวของผู้เล่น และผู้เล่นจะได้โทเคนในเกมส์เป็นค่าตอบแทน ตามปริมาณการเคลื่อนไหวครับ

โทเคนในเกมส์จะมีสองตัวด้วยกัน ตัวแรกคือ GMT ซึ่งเป็น governance token หรือโทเคนที่ผู้ถือจะได้สิทธิในการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างการอัปเกรดต่าง ๆ ของโปรเจกต์ครับ อีกหนึ่งตัวคือ GST ซึ่งเป็นโทเคนที่ผู้เล่นจะได้ถ้าหากมีการเคลื่อนไหว และ GST สามารถใช้ในการซื้อไอเทมต่าง ๆ ในเกมส์ได้ครับ

OpenSea

Opensea on Solana

OpenSea เป็นตลาดซื้อ-ขาย NFT ที่มีมูลค่าซื้อ-ขายรายวันสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของตลาด NFT ทั้งหมดครับ โดยในตอนแรก OpenSea ถูกพัฒนาขึ้นบนบล็อกเชนของ Ethereum และทำให้ Ethereum กลายเป็นบล็อกเชนที่มีมูลค่าซื้อ-ขาย NFT สูงเป็นอันดับหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน Ethereum กำลังประสบปัญหาค่า gas ที่ค่อนข้างแพง ทำให้บล็อกเชนหลาย ๆ บล็อกเชนถูกนำเสนอมาเป็นทางเลือกสำหรับการซื้อ-ขาย NFT และ Solana เป็นหนึ่งในนั้นครับ ทำให้ OpenSea ตัดสินใจพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย NFT เพิ่มบนบล็อกเชนของ Solana โดยเพิ่งเริ่มเปิดให้บริการไปเมื่อเดือนเมษายน 2022 ครับ ถือเป็นตลาดซื้อ-ขาย NFT ขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งบน Solana เลยครับ

SOL

SOL (source: Analytics Insight)

เป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Solana ครับ โดยมีปริมาณอุปทานตั้งต้น (initial supply) อยู่ที่ 500 ล้านเหรียญ แต่ทางทีมพัฒนา Solana มีการ burn เหรียญ SOL ทิ้งไปจำนวน 11,365,067 เหรียญ และในปัจจุบันมี SOL ที่ถูกปล่อยออกมาหมุนเวียนตามท้องตลาดประมาณ 69% แล้วครับ

ในฝั่งของความต้องการใช้งาน SOL จะมาจากสองส่วนหลัก ๆ ครับ

  1. ใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม (gas) สำหรับทุก ๆ ธุรกรรมบนบล็อกเชนของ Solana ครับ ซึ่งค่า gas บน Solana ก็ถือว่าถูกมาก ๆ (ในช่วงที่ผมเขียนบทความนี้น่าจะอยู่ราว ๆ 1 สตางค์ต่อธุรกรรม) สำหรับ SOL ที่ถูกจ่ายเป็นค่า gas จะถูก burn ทั้งหมด
  2. ใช้วาง (stake) เป็นหลักประกันเพื่อรับสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรม ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นครับ และสำหรับการเขียนบล็อกใหม่แต่ละครั้ง ก็จะมีการผลิต SOL ออกมาใหม่ เพื่อเป็นค่าตอบแทนการเขียนบล็อก (block reward) ให้กับผู้ตรวจสอบที่เขียนบล็อกครับ โดยในปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนสำหรับผู้ตรวจสอบ (validator) และผู้ฝาก (delegator) จะอยู่ที่ 5.48% และ 4.95% ตามลำดับครับ

Roadmap

Solana Mainnet

อย่างที่กล่าวไปนะครับว่าในปัจจุบันบล็อกเชน Solana ยังเปิดใช้งานในสถานะ Mainnet Beta ครับ (เรียกว่าเป็นเวอร์ชันทดลองใช้งานก็ได้) ในระหว่างการทำงานของ Mainnet Beta เราก็จะเห็นการอัปเกรดยิบย่อยต่าง ๆ ของบล็อกเชน แต่จนถึงปัจจุบัน Solana ก็ยังไม่ได้เปิดให้ใช้งานในรูปแบบ Mainnet (ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ใช้งานจริง) เลยครับ และกำหนดการสำหรับการเปิดใช้งาน Mainnet ก็ยังไม่ได้มีกำหนดตายตัวอีกด้วย เพราะฉะนั้นทุก ๆ คนที่ใช้งานบล็อกเชนของ Solana ก็ควรทราบถึงจุดนี้ด้วยครับ

Neon

Neon EVM (source: Medium)

เป็นเทคโนโลยี Ethereum Virtual Machine (EVM) ที่ถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชนของ Solana ครับ ซึ่งถ้าหาก Neon EVM มีการใช้งานกับ Solana จริง ๆ แปลว่าแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ในปัจจุบันเปิดใช้งานบน Ethereum จะสามารถเปิดใช้งานบน Solana ผ่าน Neon ได้เลยครับ และ Neon ยังจะรับคุณลักษณะด้านโครงสร้างของ Ethereum มาอีกด้วย เช่นมาตรฐานโทเคน ERC-20, การรองรับภาษา Solidity (ซึ่งช่วยให้สามารถเขียนโปรแกรมบน Solana ได้เหมือนเขียนบน Ethereum) แต่แอปพลิเคชันที่มาเปิดบน Neon EVM ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากบล็อกเชนของ Solana ในด้านความเร็วของการทำธุรกรรม และค่า gas ที่ต่ำครับ

SAGA

SAGA (source: XDA Developers)

ในเดือนมิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา Solana Labs ที่เป็นบริษัทพัฒนาบล็อกเชน Solana ประกาศจัดตั้งบริษัทลูก Solana Mobile และประกาศเริ่มต้นการพัฒนา SAGA ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android แต่มีความพิเศษคือเพิ่มฟีเจอร์ที่ช่วยให้ตัวโทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับบล็อกเชนของ Solana ได้ครับ โดยผู้ใช้งาน SAGA จะสามารถทำธุรกรรมโอนโทเคน, ซื้อ-ขาย NFT และดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของตนเอง ที่อยู่บนบล็อกเชนของ Solana ผ่านโทรศัพท์ดังกล่าวได้ครับ โดยในโปรเจกต์นี้ Solana Mobile จะพัฒนาในส่วนของซอฟต์แวร์เป็นหลัก โดยจะสร้าง Solana Mobile Stack SDK ซึ่งเป็นชุดโปรแกรมที่จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันบน SAGA ได้ และในส่วนของการพัฒนาฮาร์ดแวร์ จะเป็นบริษัท OSOM ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ของโทรศัพท์ Android ซึ่งเคยพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้กับทั้ง Google และ Intel มาแล้วครับ

กำหนดการเปิดตัวของโทรศัพท์ SAGA ยังไม่ได้มีการกำหนดที่แน่ชัด สำหรับคนที่สนใจก็ต้องติดตามกันต่อไปครับว่าจะปล่อยออกมาให้ใช้งานเมื่อไหร่

Concerns

Solana เป็นบล็อกเชนที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดครับ จำนวนการทำธุรกรรมต่อวันในช่วงนี้สูงขึ้นหลายเท่าตัวถ้าเทียบกับ 2–3 ปีที่แล้ว แต่ตัวโปรเจกต์เองก็ยังมีจุดที่ควรระวังหลาย ๆ อย่างครับ ในบทความนี้ผมจะยกตัวอย่างประเด็นที่สำคัญสองประเด็นด้วยกัน ที่คนที่สนใจลงทุนหรือใช้งาน Solana ควรทราบครับ

Outages

Solana เป็นบล็อกเชนที่ “ล่ม” บ่อยครับ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าตัวบล็อกเชนยังเปิดให้ใช้งานในรูปแบบ Mainnet Beta เพราะฉะนั้นฟีเจอร์หลาย ๆ อย่างของบล็อกเชนก็อยู่ในช่วงทดลองใช้งาน ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเจอเหตุการณ์ผิดปกติอยู่บ้าง วันนี้ผมยกตัวอย่างเหตุการณ์ผิดปกติมาสองเรื่องด้วยกันครับ

Crashes

บล็อกเชนของ Solana เคยประสบปัญหา “ล่ม” ใหญ่ ๆ มาแล้ว 2 ครั้งครับ โดยเกิดจากการโจมตีรูปแบบ distributed denial of service (DDOS) โดยมีผู้ไม่หวังดีทำธุรกรรมในปริมาณที่สูงมาก ๆ ในช่วงเวลาอันสั้น จนบล็อกเชนไม่สามารถรับได้ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในกลางเดือนกันยายนปี 2021 โดยบล็อกเชนเกิดล่มไปนานเกือบ 24 ชั่วโมง และครั้งที่สองเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน และทำให้ประสิทธิภาพของบล็อกเชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญครับ (ซึ่งจริง ๆ แล้วบล็อกเชนของ Solana เจอปัญหายิบย่อยมาเรื่อย ๆ ครับ แต่ปัญหาเหล่านั้นก็อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างมากนัก)

The Wormhole Hack

Solana Wormhole (source: Cryptomode)

Wormhole เป็นเทคโนโลยีสะพาน (bridge) เชื่อมต่อบล็อกเชนระหว่าง Ethereum กับ Solana ครับ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานบน Ethereum สามารถโอนโทเคน ERC-20 อย่างเช่น ETH หรือ USDC ข้ามมาใช้งานบนบล็อกเชนของ Solana ได้ครับ โดยหลักการทำงานคือผู้ใช้งานจะทำการฝากโทเคนบนฝั่ง Ethereum ไว้กับกองกลาง แล้ว Wormhole จะทำการผลิตโทเคนที่ตรึงมูลค่าไว้กับโทเคนที่ฝากไว้ บนฝั่ง Solana ครับ

ในเดือนกุมภาพันธ์​ 2022 Wormhole ถูกแฮกครับ และสูญเสียสินทรัพย์ไปในมูลค่ารวมทั้งหมด 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยครับ โดยสาเหตุของการแฮกคือ แฮกเกอร์สามารถ “หลอก”​ Wormhole ฝั่ง Solana ให้ผลิต ETH โดยที่ไม่ได้ทำการฝาก ETH ไว้ที่ฝั่ง Ethereum ครับ จากนั้นก็ทำการโอน ETH กลับมายังฝั่ง Ethereum ซึ่งก็ทำให้สามารถเสก ETH ขึ้นมาจากอากาศได้ครับ ซึ่งหลังจากการแฮกดังกล่าว Solana ก็ได้ Jump Crypto ซึ่งเป็นกองทุน venture capital มาช่วยเหลือค่าเสียหายส่วนนี้ครับ

Wallets Hacked

สด ๆ ร้อน ๆ กับเหตุการณ์ในต้นเดือนสิงหาคม 2022 ที่กระเป๋าเงินดิจิทัลบนบล็อกเชนของ Solana เช่น Phantom และ Slope ของผู้ใช้งานที่ไม่ได้เชื่อมต่อ hardware wallet ถูกแฮกเงินไปกว่า 8,000 กระเป๋า คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐครับ ซึ่งในขณะนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างการหาสาเหตุที่แท้จริงของการแฮกในครั้งนี้ แต่หลาย ๆ คนก็ตั้งข้อสงสัยว่าช่องโหว่ของโปรแกรมอาจเกิดขึ้นในฝั่งผู้พัฒนากระเป๋าเงิน มากกว่าที่จะเป็นช่องโหว่ของบล็อกเชนของ Solana ครับ แต่ข่าวนี้ก็สร้างความวิตกกังวลให้ผู้ใช้งาน Solana ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

Competition

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องบล็อกเชนเจอปัญหาล่มบ่อยแล้ว อีกหนึ่งประเด็นของ Solana คือเรื่องคู่แข่งครับ ตัว Solana เองเป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีบริษัทสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีเกิดขึ้นจำนวนมาก และยังมีโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีเกิดขึ้นอีกหลายโปรเจกต์เลยครับ หนึ่งในนั้นคือ Near Protocol ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่แข่งที่สำคัญของ Solana ครับ ซึ่งคุณ Anatoly เองก็เคยออกมาบอกครับว่าตอนนี้ทีมยังมีปัญหาในการเพิ่มจำนวนนักพัฒนาเพื่อให้ทันกับแผนการเติบโตของบล็อกเชนและโปรเจกต์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ต้องรอดูกันครับว่าสุดท้ายแล้ว Solana จะสามารถขยายทีมนักพัฒนาให้ทันกับโปรเจกต์ใหม่ ๆ ได้หรือไม่

Summary

Solana เป็นหนึ่งในบล็อกเชนที่มีความเร็วสูงที่สุดในบรรดาบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract ทั้งหมด ด้วยเทคโนโลยี Proof-of-History ประกอบกับการออกแบบโครงสร้างบล็อกเชน ทำให้บล็อกเชนมีประสิทธิภาพที่สูงมาก และในปัจจุบัน ก็มี DApp ต่าง ๆ มาเปิดใช้งานอย่างหลากหลาย จนทำให้มูลค่า TVL ของ Solana มีสูงถึง 2.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว นอกจากนี้ แพลตฟอร์มตลาดซื้อ-ขาย NFT หลาย ๆ เจ้า ก็ทยอยมาเปิดบน Solana แล้วครับ ทำให้ Solana ดูจะเป็นบล็อกเชนที่คนที่ติดตามหรืออยากซื้อ NFT จะมาใช้งานกันเป็นหลักในอนาคต

แต่ถึงแม้ตัวโปรเจกต์จะดูมีศักยภาพ มีฐานผู้ใช้งานที่ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ Solana เองตอนนี้ก็ยังอยู่ในรูปแบบ Mainnet Beta ครับ และจะเปิดใช้งาน Mainnet จริง ๆ เมื่อไหร่ก็ยังไม่มีใครรู้ และในตอนนี้ บล็อกเชนก็เจอปัญหาใหญ่ ๆ ทั้งเรื่องการถูกโจมตีแบบ DDOS และการแ​ฮกสินทรัพย์ไปหลายครั้งแล้ว ปัจจัยข้อนี้ส่งผลเชิงลบอย่างมากกับ Solana ครับ เพราะบล็อกเชนอื่น ๆ ไม่ได้มีปัญหาถี่ขนาดนี้ ดังนั้นก็ต้องรอดูกันต่อไปครับ ว่าเมื่อ Solana อัปเกรดขึ้นเป็น Mainnet แล้ว จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากแก้ไขได้จริง ๆ Solana จะเป็นอีกหนึ่งบล็อกเชนที่น่าติดตามในระยะยาวครับ

Further Read:

Official Website: https://solana.com/

Whitepaper: https://solana.com/solana-whitepaper.pdf

Solana Clusters: https://docs.solana.com/cluster/overview

Solana Beach: https://solanabeach.io/

Solana Pay: https://docs.solanapay.com/

Binance Research: https://research.binance.com/en/projects/solana

--

--

Pasin Sirirat
Pasin Sirirat

Written by Pasin Sirirat

A Data specialist passionated in Investments currently working in a FinTech startup.

No responses yet