The Sandbox: Virtual World รูปแบบใหม่?

Pasin Sirirat
6 min readMay 6, 2022

--

The Sandbox

พูดถึงคำแห่งปี 2022 ผมเชื่อว่า Metaverse ติดโผหนึ่งในคำที่ถูกพูดถึงเยอะที่สุดแน่ ๆ ครับ เราเห็นแนวโน้มการเข้ามามีส่วนร่วมของทั้งผู้เล่นที่เป็นรายบุคคลและบริษัทต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย เศรษฐกิจภายในโลกเสมือน (virtual world) แต่ละแห่งมีการเติบโตขึ้นทั้งในแง่จำนวนผู้ใช้งานและปริมาณเงินหมุนเวียน รวมทั้งราคาเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่เป็นเหรียญประจำแพลตฟอร์มแต่ละที่ ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2021 ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง

The Sandbox ถือเป็นหนึ่งใน virtual world ที่ใหญ่ที่สุด และถูกพูดถึงมากที่สุดในปัจจุบัน ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่พุ่งทะลุ 2 ล้านคนไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2022 ราคาของสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือไอเทมอื่น ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น และมูลค่าเหรียญ SAND ซึ่งเป็น utility token ของโปรเจคก็พุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับคริปโตเคอร์เรนซีตัวอื่น ๆ ก็ดูเป็นโปรเจคที่มีอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน The Sandbox รวมถึงแพลตฟอร์มโลกเสมือนอื่น ๆ เช่น Decentraland หรือ Bloktopia ก็ได้รับคำวิจารณ์เชิงลบไม่น้อย เกี่ยวกับลักษณะที่ดูไม่ได้แตกต่างจากเกมส์ทั่วไปมากนัก วันนี้ผมเลยอยากชวนมาเจาะลึกเกี่ยวกับ The Sandbox ครับ มาดูกันว่าแพลตฟอร์มโลกเสมือนตัวนี้ จะเหมือนหรือแตกต่างจากเกมส์ที่เราเคยเห็นก่อนหน้านี้อย่างไร

What is The Sandbox?

The Sandbox (source: Medium)

The Sandbox เป็นแพลตฟอร์มโลกเสมือน (virtual world) ที่ผู้เล่นสามารถสร้างและเป็นเจ้าของสินทรัพย์ต่าง ๆ ภายในโลกเสมือนได้จริง ๆ โดยทำงานอยู่บนบล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยยืนยันความเป็นเจ้าของให้กับ user แต่ละคน

The Sandbox Evolution (source: Modded-1)

จริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นของ The Sandbox ไม่ได้เริ่มต้นมาจากความต้องการสร้างโลกเสมือนด้วยบล็อกเชนครับ แต่เริ่มจากการสร้าง The Sandbox Evolution ซึ่งเป็นเกมส์มือถือรูปแบบ 2 มิติ ที่เปิดให้ผู้เล่นสามารถออกแบบและสร้างโลกของตัวเองได้ (คล้าย ๆ Minecraft แต่เป็น 2 มิติ) ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีให้ดาวน์โหลดมาเล่นทั้งใน iOS และ Android ครับ และมีจำนวนคนที่ดาวน์โหลดกว่า 40 ล้านคน

จากนั้น ในช่วงปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเติบโต Pixowl ซึ่งเป็นบริษัทเกมส์ที่สร้าง The Sandbox จึงตัดสินใจเบนเป้าหมายจากเกมส์มือถือ 2 มิติธรรมดา เป็นเกมส์ 3 มิติที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชน Ethereum โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็น “Deeply Immersive Metaverse” ที่ผู้เล่นสามารถออกแบบโลกเสมือนได้ในแบบที่ต้องการ โดยไม่ได้มีหน่วยงานตรงกลางที่จะมาคอยกำกับหรือออกกฎห้ามการสร้างสิ่งต่าง ๆ โดยเป้าหมายของโปรเจคคือการ disrupt แพลตฟอร์มเกมส์อย่าง Roblox หรือ Minecraft โดยการให้ผู้เล่นมีสิทธิในทรัพย์สินที่ตนครอบครองในเกมส์จริง ๆ ในรูปแบบของ Non-Fungible Tokens (NFT)

ถ้าหากเทียบ The Sandbox กับเกมส์ที่เราคุ้นเคย เช่น Minecraft หลาย ๆ คนที่เคยลองเล่นทั้งสองเกมส์แล้ว ก็อาจจะรู้สึกว่า interface ต่าง ๆ มันก็ดูไม่ได้ต่างกันนี่นา แล้ว The Sandbox มีอะไรที่เหนือกว่า Minecraft นะ? คำตอบคือเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ทำงานอยู่ด้านหลัง The Sandbox เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยพิสูจน์ความเป็นเจ้าของของสินทรัพย์ต่าง ๆ ภายในเกมส์ ซึ่งบล็อกเชนตัวนี้ก็คือ Ethereum และแน่นอนว่าไม่ได้ถูกสร้างหรือกำกับดูแลโดยทีม The Sandbox เพียงกลุ่มเดียว ซึ่งนี่ถือเป็นความแตกต่างสำคัญของ The Sandbox กับเกมส์อื่น ๆ ครับ ถ้าเป็นเกมส์อย่างเช่น Minecraft คนที่บอกว่าใครกำลังครอบครอง item อะไรอยู่ ก็คือทีม Minecraft เอง ซึ่งว่ากันจริง ๆ แล้ว ก็เหมือนเราไม่ได้เป็นเจ้าของจริง ๆ (ถ้าผู้สร้างเกมส์บอกว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของ เราก็ไม่ได้เป็นแล้ว) แต่ The Sandbox ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เนื่องจากหลักฐานยืนยันความเป็นเจ้าของของสิ่งของต่าง ๆ ในเกมส์ อยู่บน Ethereum ซึ่งเป็นบล็อกเชนที่มีความยากในการบิดเบือนข้อมูลขึ้นมาอีกหนึ่งระดับครับ

Components

Virtual World

Virtual World Map

โลกเสมือนของ The Sandbox ประกอบด้วยที่ดิน (land) ทั้งหมด 166,000 ผืน ซึ่งทั้งหมดถือเป็น NFT และถูกสร้างตามมาตรฐาน ERC-721 บนบล็อกเชน Ethereum

ซึ่งเราจะเห็นว่าที่ดินบางส่วนใน The Sandbox มีเจ้าของเป็นบริษัทดัง ๆ เช่น Binance, Atari, CoinMarketCap, Gemini และ South China Morning Post ครับ

VoxEdit

VoxEdit (source: Medium)

เป็น software ที่ถูกพัฒนาโดยทีม The Sandbox เอง ใช้ในการออกแบบ entity ต่าง ๆ ภายใน The Sandbox ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร / ไอเทม / สิ่งปลูกสร้าง โดยจะมีฟังก์ชันหลัก ๆ 3 ส่วนด้วยกัน คือ Modeling ที่เป็นตัวช่วยให้ศิลปินออกแบบหรือ import design จากแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น Minecraft, Animation ที่ช่วยให้ใส่อาการเคลื่อนไหวให้กับสิ่งที่เราออกแบบได้ (เช่นให้คนขยับแขนขา) และสุดท้ายคือ NFT Conversion ที่จะสร้าง NFT จากสิ่งที่เราได้ออกแบบไว้ครับ

ซึ่ง VoxEdit ก็มาพร้อมกับ template จำนวนหนึ่งที่ให้เราได้ใช้ต่อยอดได้ และมี tutorial สำหรับผู้ที่สนใจจะลองสร้างไอเทมของตัวเอง โดยสามารถดู tutorial ได้ที่นี่เลยครับ

The Sandbox Marketplace

Marketplace

เป็นหน้าเว็บสำหรับ NFT marketplace ภายใน The Sandbox ครับ ใช้งานอยู่บนบล็อกเชน Ethereum ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตลาดให้ผู้สนใจและผู้ครอบครอง NFT สามารถซื้อขายได้อย่างอิสระ โดยจะทำการซื้อขายกันด้วย SAND ซึ่งเป็น utility token ของโปรเจค โดยสามารถเชื่อมต่อ Ethereum wallet เช่น Metamask หรือ Coinbase wallet และ signup ด้วยอีเมลครับ โดยในธุรกรรมแต่ละครั้งจะมีการเก็บค่าธรรมเนียม 5% ของมูลค่าธุรกรรม โดยจะนำไปให้กับ Sandbox Creator และ Game Maker Fund ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยสนับสนุนศิลปินที่อยากจะสร้างงานของตนเองบน The Sandbox ครับ

The Walking Dead’s NFTs on The Sandbox’s Marketplace

ซึ่งในปัจจุบันก็มีศิลปินดัง ๆ เช่น Snoop Dogg, Deadmau5, ตัวการ์ตูนดังอย่าง Smurf, Pororo และ Care Bears และซีรี่ส์ชื่อดังอย่าง The Walking Dead มาสร้าง NFT บน The Sandbox แล้วครับ ซึ่งสามารถเข้าไปดู collection ได้ที่นี่เลย

Native Meta Transaction

เป็นเทคโนโลยีใหม่จาก The Sandbox ที่ช่วยให้ user สามารถทำธุรกรรมภายใน The Sandbox ได้โดยไม่ต้องมี ETH อยู่ใน wallet ครับ ซึ่งปกติเวลาเราจะทำธุรกรรมบนบล็อกเชน Ethereum เราจะต้องจ่าย ETH เป็นค่า gas แต่ The Sandbox ช่วย user โดยเมื่อ user ส่ง message คำขอการทำธุรกรรม คำขอดังกล่าวจะถูกส่งมาที่ wallet กลางที่ดูแลโดยทีม The Sandbox จากนั้นธุรกรรมจะเกิดขึ้นที่ wallet กลาง และ wallet กลางจะเป็นคนจ่าย ETH ให้ และเมื่อธุรกรรมสำเร็จ ผลลัพธ์ก็จะถูกส่งกลับไปให้ user ครับ

Game Maker

Game Maker (source: Medium)

เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้คนสร้างเกมส์สามารถออกแบบ สร้าง และทดสอบเกมส์ของตนเอง โดยใช้ NFT ที่ตนเองสร้างมาเป็นส่วนประกอบของเกมส์ และมี feature ในการนำ NFT ไปวางบนที่ดินที่ตนเองถือครองอยู่ครับ และสามารถวางตัวเกมส์ที่สำเร็จแล้วลงบนที่ดินของตนเอง และเปิดให้ผู้เล่นรายอื่น ๆ เข้ามาใช้งานได้ โดยไม่ต้องเขียน code ใด ๆ เลย ถือว่าสะดวกกับ designer ที่เขียน code ไม่เป็น และอยากสร้างเกมส์ของตัวเองมาก ๆ ครับ โดยสามารถดู​ tutorial ได้ที่นี่เลย

Tokens

Tokens บน The Sandbox สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทด้วยกันครับ

SAND

SAND (source: CoinMarketCap)

เป็น ERC-20 token บน Ethereum network และเป็น utility token ของโปรเจคครับ ซึ่งมีการใช้งานดังนี้

  • เป็นเหรียญที่ถูกใช้เมื่อเกิดการทำธุรกรรมบางอย่างขึ้น เช่น การซื้อขาย NFT บน marketplace หรือซื้อขายที่ดินบน Virtual World ก็จะซื้อขายกันด้วย SAND นอกจากนี้เมื่อศิลปินทำการสร้าง NFT สำเร็จ และจะนำมาขายบน marketplace ก็จะต้องเสียค่าแรกเข้าเป็น SAND เช่นกัน
  • เป็น governance token ของโปรเจคครับ โดย The Sandbox มีลักษณะ Decentralized Autonomous Organization (DAO) นั่นคือผู้ใช้งานที่ถือ SAND สามารถออกเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยใน proposal ต่าง ๆ ที่มีการเสนอมา นอกจากนี้ผู้ที่ถือ SAND ยังสามารถ delegate หรือโอนสิทธิ์การโหวตให้กับผู้เล่นรายอื่น ก็สามารถทำได้เช่นกัน
  • ผู้ใช้งานสามารถ stake SAND เพื่อรับ reward เพิ่มเติมได้ครับ โดยผลตอบแทนในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ​ 8.4%

SAND มี total supply อยู่ที่ 3 พันล้านเหรียญ และมี circulating supply คิดเป็นประมาณ 30% ของ supply ทั้งหมด โดย unlocking period จะสิ้นสุดในปี 2024 ซึ่งทีม The Sandbox กล่าวว่าทางทีมยังถือ SAND อยู่ในปริมาณหนึ่ง และวางแผนจะขายเหรียญเหล่านั้นออกมาทั้งหมด เพื่อให้เกิด DAO อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น SAND ก็อาจจะเกิด sell pressure ขึ้นในอนาคตครับ

LAND

LAND (source: Medium)

เป็น ERC-721 NFT token บนบล็อกเชน Ethereum ซึ่งจะแสดงถึงพื้นที่ที่ดินขนาด 96x96 ตารางเมตรใน The Sandbox Virtual World โดยผู้ที่ถือครอง LAND แต่ละแห่งจะสามารถออกแบบและสร้างเกมส์ หรือตกแต่งที่ดินด้วย NFT ที่ตนเองถือครองอยู่ เพื่อให้ผู้ใช้งานทั่วไปเข้ามาเดินชมหรือร่วมเล่นได้ครับ ซึ่งก็สามารถออกแบบให้ตัวเกมส์มีการจ่าย SAND ในบางรูปแบบ (เช่นการพนัน หรือการซื้อของต่าง ๆ) เพื่อให้เจ้าของที่ดินมีโอกาสได้รับ SAND ก็ทำได้ครับ หรือจะปล่อยเช่าที่ดินของตนเองก็ได้ เพื่อรับ passive income ในรูปแบบของ SAND

ใน Virtual World มี LAND อยู่ทั้งหมด 166,464 ชิ้น และจะไม่มีการ mint LAND ออกมาเพิ่ม โดยการกระจาย token จะแบ่งเป็น 74% เปิดขายแบบ public / 16% จะถูกแบ่งไว้ใน reserve ซึ่งจะเป็นที่ดินที่จะเปิดขายเฉพาะพาร์ทเนอร์ของโปรเจคหรือคนที่ได้รับรางวัลจากกิจกรรมที่ทางทีมจัดขึ้นเท่านั้น / 10% จะใช้เป็นพื้นที่ของทีม The Sandbox เอง เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบที่ดินพิเศษอีก 2 ประเภทครับ

  1. Estates คือชุดของ LAND ที่อยู่ติดกัน โดยจะมีขนาดตั้งแต่ 3x3, 6x6, 12x12, และ 24x24 โดยผู้ถือครองจะเป็นคน ๆ เดียวหรือกลุ่มคนก็ได้ จุดเด่นของ Estates คือจะมีความใหญ่สะดุดตาผู้เล่น (เพราะเป็นกลุ่มก้อนของ LAND หลาย LAND) เมื่อเปิดดูใน map และดึงดูดความสนใจได้ดี แต่ก็จะมีราคาที่แพง ดังนั้น Estates ส่วนมากจึงถูกครอบครองโดยบริษัทครับ
  2. Districts เป็นกลุ่มก้อนของ LAND ที่จะมีความพิเศษตรงที่ภายใน LAND กลุ่มนี้ จะมี DAO เป็นของตนเอง (เรียกว่าเป็นพื้นที่ปกครองตนเองก็ได้) โดย District แต่ละแห่งจะถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง โดยการสร้าง District สามารถทำได้โดย stake SAND ครับ

ASSET

ASSETs (source: The Sandbox’s GitBook)

ASSETs เป็น token ที่แสดงถึงไอเทมต่าง ๆ ที่ศิลปินสร้างขึ้นใน VoxEdit โดย ASSET สามารถถูก mint เป็น NFT ตามมาตรฐาน ERC-1155 ได้ครับ มีส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ภายใน Virtual World เนื่องจากจะเป็น token ที่สร้างลูกเล่นต่าง ๆ ภายในนั้น โดยศิลปินจะสามารถเลือกระดับความหายาก (scarcity) ของ ASSET ในตอนที่จะ mint เป็น NFT โดยตั้งค่าจำนวนที่จะ mint ออกมา โดยระดับความหายากจะแบ่งเป็น…

  • Legendary มีจำนวนไม่เกิน 200 ชิ้น
  • Epic มีจำนวนไม่เกิน 1,500 ชิ้น
  • Rare มีจำนวนไม่เกิน 4,000 ชิ้น
  • Common มีจำนวนไม่เกิน 20,000 ชิ้น

และ ASSET ใน The Sandbox สามารถแบ่งประเภทย่อยได้อีก 5 ประเภท ตามลักษณะ และการใช้งาน

  1. Entity เป็น ASSET ลักษณะสภาพแวดล้อม และเน้นการใช้งานจริง โดยจะใช้การใส่ animation ช่วยให้ผู้ใช้งานมี interaction กับแพลตฟอร์ม และช่วยให้โลกเสมือนมีชีวิตชีวามากขึ้น ตัวอย่างเช่น สัตว์ต่าง ๆ หรือ avatar
  2. Equipment เป็น ASSET ลักษณะประกอบตัวผู้เล่น และเน้นการใช้งานจริง เป็นไอเทมที่ให้ผู้เล่นสวมใส่และจะได้ความสามารถพิเศษบางอย่างเพิ่มเติม ถูกใช้บ่อยในการเล่นเกมส์ภายใน The Sandbox ตัวอย่างเช่นดาบ โล่ เกราะ ฯลฯ
  3. Wearables เป็น ASSET ลักษณะประกอบตัวผู้เล่น และเน้นความสวยงาม เช่นเสื้อ กางเกง รองเท้า ซึ่งในอนาคตก็อาจจะมีแบรนด์เสื้อผ้าดัง ๆ เข้ามาสร้าง wearables ชนิด limited edition ให้ตัวละครได้สวมใส่ครับ
  4. Art เป็น ASSET ลักษณะสภาพแวดล้อม และเน้นความสวยงาม ใช้เพื่อตกแต่งที่ดิน และเสริมความสมจริงให้กับประสบการณ์การเล่นเกมส์
  5. Blocks เป็น ASSET ลักษณะสภาพแวดล้อม และเน้นความสวยงาม มีลักษณะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ถูกนำมาใช้ตกแต่งที่ดิน เช่น น้ำ ลาวา ทราย ฯลฯ

GEM

เป็น ERC-20 token ที่จะต้องถูก burn เมื่อศิลปินต้องการ mint NFT และต้องการจะเพิ่มค่าพลังให้กับไอเทมของตัวเอง โดยมูลค่าที่ถูก burn จะขึ้นกับระดับพลังที่ศิลปินอยากใส่ให้กับไอเทมนั้น ๆ ครับ โดยสามารถ boost พลังได้ 5 รูปแบบ ได้แก่ power / defense / magic / speed / luck ดังนั้น GEM จะถูกใช้ในไอเทมเกมส์เป็นส่วนใหญ่ โดยวิธีการได้มาซึ่ง GEM จะต้อง stake SAND ครับ

CATALYST

เป็น ERC-20 token ที่จะต้องถูก burn เมื่อศิลปินต้องการ mint NFT โดยมูลค่าที่ถูก burn จะขึ้นกับระดับความหายากที่ศิลปินอยากตั้งค่าให้กับไอเทมของตัวเอง โดยในระดับความหายาก 4 ระดับ ได้แก่ legendary / epic / rare / common จะต้องใช้ GEM 4 / 3 / 2 / 1 GEM ตามลำดับครับ

Roadmap

Q3 2022

Jay Chou’s concert on a Metaverse (source: CoinYuppie)

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 The Sandbox มีแผนที่จะจัดคอนเสิร์ตภายใน Virtual World ครั้งแรก โดยจะมีศิลปินอย่าง Deadmau5 และ Richie Hawtin มาร่วมแสดง นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิดตัวเกมส์ The Walking Dead อีกด้วยครับ

Q4 2022

มีแผนปล่อย The Sandbox ในรูปแบบของ mobile app ครับ นอกจากนี้ยังมีแผนทำ multi-platform นั่นคือจะมี The Sandbox ให้เล่นบน console อื่น ๆ นอกเหนือจาก PC, มีการพัฒนา VoxEdit เพื่อช่วยให้การสร้างไอเทมต่าง ๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น และจะมีการทำ co-building mode เพื่อให้ user หลาย ๆ คนสามารถมาช่วยกันสร้างเกมส์ได้ครับ

Concerns

โปรเจค Virtual World หรือ Metaverse ในปัจจุบันยังเผชิญกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้านร่วมกันครับ ในส่วนของ The Sandbox เองก็มีปัญหาที่คล้ายคลึงกับโปรเจคอื่น ๆ อย่างเช่น

  1. Virtual World Centralization จริงอยู่ครับที่ตัวโปรเจคทำงานอยู่บนบล็อกเชน Ethereum และสามารถการันตีความเป็นเจ้าของสินทรัพย์และ NFT ต่าง ๆ ให้กับผู้ใช้งานได้ แต่ชุด code ที่สร้าง Virtual World ของ The Sandbox นั้น hosted บน Amazon Web Service (AWS) ครับ ซึ่งการ host บน cloud service จะกลายเป็น single point of failure ให้กับโปรเจคครับ (สมมติ AWS เกิดล่มขึ้นมา จริงอยู่ที่ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของเราภายในเกมส์จะไม่ได้หายไปไหน แต่เราก็จะไม่สามารถท่องโลกเสมือน เล่นเกมส์​ หรือมี interaction กับผู้เล่นคนอื่น ๆ ได้)
  2. Hype อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นครับว่าคำว่า Metaverse น่าจะเป็นคำแห่งปี 2022 เพราะเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้างมาก ๆ และผู้คนก็มีความคาดหวังกับโปรเจคค่อนข้างสูง ซึ่งก็แน่นอนว่าจำนวนผู้เล่น The Sandbox และแพลตฟอร์มโลกเสมือนอื่น ๆ คงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แน่ ๆ ครับ และผมคิดว่าประเด็นนี้น่าจะสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลให้กับทีม developer ของโปรเจคที่จะต้องออกแบบระบบให้สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานจำนวนมากได้ ซึ่งถ้าหากเกมส์เกิดช้า หรือมี bug ขึ้นมา ความน่าเชื่อถือของโปรเจคก็จะลดลงไปครับ
  3. Centralization นอกจากประเด็นเรื่องชุดโค้ดที่ใช้สร้าง Virtual World ที่ในปัจจุบัน hosted อยู่บน AWS The Sandbox ยังมีประเด็นเรื่องความรวมศูนย์ (centralization) อีกหนึ่งอย่าง นั่นคือทีมผู้สร้าง The Sandbox ยังคงถือเหรียญ SAND อยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งปัจจัยนี้ส่งผลต่อสิทธิในการออกเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อ proposal ใหม่ ๆ โดยตรง เพราะแปลว่าในปัจจุบันทีม The Sandbox ยังมีอำนาจในการ “เลือก” proposal ที่คิดว่าเหมาะสมแล้วนำไปพัฒนาต่ออยู่ครับ อย่างที่ผมกล่าวไปครับว่าทางทีม The Sandbox เคยออกมากล่าวว่าจะทยอยขายเหรียญ SAND ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มความเป็น DAO ให้กับ community ของโปรเจคซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปครับว่าจะทำได้ภายในระยะเวลาเท่าไหร่

Conclusion

ถึงผมจะจั่วหัวบทความด้วยคำว่า Metaverse แต่ผมก็ไม่ได้ใช้คำดังกล่าวบ่อยสักเท่าไหร่ในบทความนะครับ (ส่วนตัวจะใช้คำว่าโลกเสมือน) เพราะผมทราบดีว่านิยามคำว่า Metaverse มันหลากหลายมาก ๆ (แต่ทีม The Sandbox ก็เรียกตัวเองว่าเป็น แพลตฟอร์ม Metaverse นะ) อย่างไรก็ตาม การที่ผู้สร้างโลกเสมือนประยุกต์ใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีและเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้สิ่งของไอเทมต่าง ๆ มีมูลค่าจริง ๆ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ และน่าติดตามอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราอย่างไร

ถึงแม้ ณ ตอนนี้จะยังไปไม่ถึงภาพที่หลาย ๆ คนวาดฝันเอาไว้ (พอพูดถึง Metaverse หลาย ๆ คนจะนึกถึงเทคโนโลยี VR / AR หรือภาพยนตร์อย่าง Ready Player One) แต่ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นเป็นเพียงแค่หนึ่งส่วนประกอบของ Metaverse ครับ การจะทำให้เราหลุดเข้าไปในโลกอีกใบหนึ่งได้จริง ๆ ผมว่ามันต้องมีองค์ประกอบมากกว่านั้น แพลตฟอร์มอย่าง The Sandbox ตอบโจทย์ Metaverse ในอนาคตด้วยระบบเศรษฐกิจที่ทุก ๆ อย่างในนั้นมีมูลค่าจริง ๆ และผู้ใช้งานก็จะได้เป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้นจริง ๆ เปรียบเสมือนว่าเราได้เข้าไปใช้ชีวิตในนั้นจริง ๆ ผมคิดว่านี่คือแก่นสำคัญของ Metaverse ครับ แต่ก็เข้าใจได้ว่าหลาย ๆ คนฝันถึงกราฟิกระดับเทพ และความรู้สึกที่จะต้องรู้สึกจริง ๆ อะไรแบบนั้น ผมก็อยากให้เป็นแบบนั้นเหมือนกันครับ แต่น่าจะต้องใช้เวลาพอสมควร สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ คือการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทยอยสร้างของล้ำ ๆ ออกมาให้เราเล่น ซึ่งส่วนตัวผมเองเชื่อว่า ถ้าไม่ได้ตามกระแสเหล่านี้ ก็อาจจะตกขบวนได้นะครับ :)

Further Read:

--

--

Pasin Sirirat

A Data specialist passionated in Investments currently working in a FinTech startup.