Avalanche: Smart Contract Blockchain รูปแบบใหม่?

Pasin Sirirat
6 min readJul 24, 2022

--

Avalanche (source: Ultcoin365)

เทคโนโลยีบล็อกเชนพัฒนาไปไกลมากเลยนะครับ เราเห็นการประยุกต์ใช้งานบล็อกเชนในวงการการเงินการลงทุนที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตอนแรก บล็อกเชนก็อาจจะทำได้แค่โอนสินทรัพย์ไป-มาระหว่างผู้คน แต่ตอนนี้ นักพัฒนาสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนบนบล็อกเชนได้ ทั้งหมดก็ต้องขอบคุณสิ่งที่เรียกว่า smart contract ที่ถูกใช้งานครั้งแรกบนบล็อกเชนของ Ethereum และมีบล็อกเชนอีกหลายอันที่นำเอาแนวคิดนี้ไปใช้ครับ

แต่ทุก ๆ คนก็น่าจะทราบดีว่า Ethereum ในปัจจุบันยังมีปัญหาในด้านค่าธรรมเนียมธุรกรรม (gas) ที่แพงอยู่ ซึ่งการพัฒนา Ethereum ก็เป็นไปอย่างล่าช้าครับ จนถึงตอนนี้ The Merge ซึ่งเป็นการอัพเกรดบล็อกเชนของ Ethereum ครั้งใหญ่ ก็ยังไม่เกิดขึ้น จนผู้ใช้งานอย่างพวกเราก็ต้องลองมองหาทางเลือกอื่น ๆ บ้างแล้วครับ วันนี้ผมจะพาทุก ๆ คนมารู้จักกับหนึ่งในทางเลือกเหล่านั้นกับ เป็นบล็อกเชนที่ยังคงมีการใช้งาน smart contract อยู่ แต่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยแนวคิดใหม่ ที่ไม่เหมือนกับ Ethereum และด้วยแนวคิดใหม่นี้ ทำให้บล็อกเชนนี้ มีความเร็วที่น่าเหลือเชื่อเลยครับ วันนี้ผมจะพาไปรู้จักกับอีกหนึ่งบล็อกเชนที่ได้ชื่อว่าเป็น Ethereum killer กัน จะเป็นอย่างไรนั้น ไปรู้จักกับ Avalanche กันครับ

What is Avalanche?

Avalanche homepage

Avalanche เป็นแพลตฟอร์ม smart contract ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายที่จะมีความเร็วสูง สามารถขยายฐานผู้ใช้งานได้ (scalable) และสามารถดัดแปลงได้หลากหลาย ตามความต้องการของนักพัฒนาครับ โดยในจุดเริ่มต้น Avalanche วางเป้าหมายไว้ว่าบล็อกเชนของตนจะต้องทำความเร็วในการทำธุรกรรมได้เทียบเท่ากับระบบของ VISA ซึ่งก็คือเร็วมาก ๆ แต่ไม่ได้มีต้นทุนในการทำธุรกรรมที่แพงเกินไปครับ โดยในปัจจุบันบล็อกเชนของ Avalanche มีความเร็วในการประมวลผลธุรกรรมที่ประมาณ 4,500 ธุรกรรมต่อวินาที (tps) เลยครับ ซึ่งถือว่าเร็วมาก ๆ ถ้าเทียบกับบล็อกเชนคู่แข่งอื่น ๆ

Dr. Emin Gün Sirer (source: Coinfomania)

Avalanche ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2018 โดย Ava Labs ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาบล็อกเชน และมีผู้ก่อตั้งคือดอกเตอร์ Emin Gün Sirer ครับ โดยคุณ Emin เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Cornell ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มมหาวิทยาลัย Ivy League ครับ นอกจากนี้ยังเป็นผู้คิดค้นพิมพ์เขียวการทำงานของระบบ Proof-of-Work ในปี 2001 (ใช่ครับ… 7 ปีก่อนมี Bitcoin) และในหลาย ๆ ครั้งก็ถูกสงสัยว่าเป็น Satoshi Nakamoto บุคคลนิรนามผู้สร้าง Bitcoin หรือเปล่า

Technology

Subnet

เป็นกลุ่มของผู้ตรวจสอบ (validators) ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชนหนึ่งกลุ่มครับ แปลว่า validator กลุ่มนี้จะตรวจสอบหลายบล็อกเชน แต่หนึ่งบล็อกเชนจะมีกลุ่มผู้ตรวจสอบได้เพียงแค่ 1 subnet เท่านั้น และผู้ตรวจสอบ 1 คน สามารถไปอยู่ใน subnet มากกว่า 1 กลุ่มได้ โดยสมาชิกใน subnet แต่ละ subnet จะเป็นผู้เลือกว่าจะรับหรือไม่รับผู้ตรวจสอบคนใหม่ครับ ยกเว้น Default Subnet ซึ่งเป็น subnet ของทาง Avalanche เอง ที่ผู้ตรวจสอบทุกคนจะถือว่าอยู่ใน subnet นี้โดยอัตโนมัติ โดย Default Subnet จะมีบล็อกเชนที่มี AVAX ซึ่งเป็นโทเคนหลักของ Avalanche อยู่ด้วยครับ

ความพิเศษของ subnet คือการเปิดให้ subnet แต่ละกลุ่ม สามารถออกแบบกลไกที่ใช้ในการตรวจสอบธุรกรรมได้ กลไกที่ว่าอาจจะเป็น proof-of-work, proof-of-stake หรืออื่น ๆ ก็ได้ครับ และ subnet ยังสามารถถูกออกแบบให้เป็นระบบเปิด (ทุก ๆ คนสามารถเข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบได้) หรือระบบปิด (เฉพาะผู้ที่ถูกเลือกเท่านั้นถึงจะมาเป็นผู้ตรวจสอบ) ก็ได้ครับ

Platform

Avalanche’s Primary Networks (source: official docs)

Avalanche ประกอบไปด้วย 3 บล็อกเชนหลักครับ โดยทั้ง 3 บล็อกเชนจะถูกเขียนและตรวจสอบโดย validator บนเครือข่ายของ Avalanche ครับ

  1. Exchange chain (X-Chain) เป็นบล็อกเชนที่ใช้งานกลไกฉันทามติของ Avalanche และเป็นบล็อกเชนที่มีโทเคน AVAX ซึ่งเป็นโทเคนหลักของระบบของ Avalanche อยู่ครับ หน้าที่หลักของบล็อกเชนนี้ก็คือการเป็นบล็อกเชนแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ตามชื่อครับ ดังนั้นจะไม่ได้มีความสามารถในการสร้าง DApp ที่หลากหลายมากนัก แต่ก็ยังสามารถเขียนข้อกำหนดง่าย ๆ ได้ เช่น ช่วงเวลาที่เปิดซื้อ-ขาย เป็นต้น โดย X-Chain สามารถประมวลผลธุรกรรมได้ 4,500 tps ครับ
  2. Platform chain (P-Chain) เป็นบล็อกเชนที่ผู้ตรวจสอบ (validator) จะทำการวาง (stake) AVAX ซึ่งเป็นโทเคนหลักในระบบของ Avalanche ครับ เป็นบล็อกเชนที่ใช้งานกลไกฉันทามติที่ชื่อว่า Snowman โดยบล็อกเชนนี้จะเป็นบล็อกเชนที่นักพัฒนาจะสามารถสร้าง subnet ได้ และ P-Chain สามารถประมวลผลธุรกรรมได้ 1,500 tps ครับ และในปัจจุบันก็มี validator อยู่ประมาณ 1,400 validator แล้วครับ
  3. Contract chain (C-Chain) เป็นบล็อกเชนที่ใช้งานกลไกฉันทามติที่ชื่อว่า Snowman เช่นกัน แต่จะมีการใช้งาน Ethereum Virtual Machine (EVM) ครับ ทำให้ DApp ต่าง ๆ ที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum สามารถมาเปิดใช้งานบน C-Chain ได้ทันที ซึ่งในปัจจุบันก็มี DApp ชื่อดังหลายเจ้ามาเปิดใช้งานแล้ว เช่น AAVE, Sushiswap และ Curve Finance ครับ โดยในปัจจุบัน C-Chain สามารถประมวลผลธุรกรรมได้ 1,500 tps และมูลค่า total value locked (TVL) บน C-Chain ก็สูงถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสูงเป็นอันดับ 4 ของบล็อกเชนที่ใช้งาน smart contract ทั้งหมดครับ

Consensus Mechanism

กลไกฉันทามติบนโลกนี้มีอยู่หลากหลายรูปแบบครับ แต่เราสามารถแบ่งกลุ่มออกมาได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือกลไกแบบดั้งเดิม (classical consensus) อย่างเช่น Byzantine Fault Tolerance (BFT) ซึ่งหลักการของกลไกกลุ่มนี้คือจะต้องให้ผู้มีส่วนร่วมบนบล็อกเชนเห็นตรงกันทั้งหมดในการจะทำอะไรบางอย่าง เช่น เขียนบล็อกใหม่ซึ่งประกอบไปด้วยรายการธุรกรรมต่าง ๆ ครับ ข้อดีของกลไกรูปแบบนี้คือเมื่อทุก ๆ คนเห็นตรงกันในการกระทำบางอย่างแล้ว การกระทำนั้น ๆ จะเกิดผลทันที ไม่ต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กลไกรูปแบบนี้จะเริ่มมีปัญหาในกรณีที่จำนวนผู้มีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้มีส่วนร่วมที่จำเป็นในการเขียนบล็อกใหม่จะเพิ่มขึ้น ทำให้การเขียนบล็อกใช้เวลานานขึ้นครับ

อีกหนึ่งกลุ่มคือ Nakamoto consensus ซึ่งเป็นกลไกที่ถูกคิดค้นในปี 2008 โดย Satoshi Nakamoto บุคคลนิรนามผู้สร้าง Bitcoin นั่นเอง โดยความแตกต่างคือ Nakamoto consensus ให้นิยามความถูกต้อง ในรูปแบบของความน่าจะเป็นครับ นั่นแปลว่าไม่จำเป็นว่าทุก ๆ คนในบล็อกเชนจะต้องเห็นตรงกัน แต่ขอแค่จำนวนคนที่เห็นด้วย มีมากกว่าค่าสัดส่วนที่กำหนดไว้ (อาจจะ 50%, 70% ก็แล้วแต่) ก็จะถือว่าถูกต้องแล้ว โดย Nakamoto เชื่อว่าความเป็นไปได้ของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความน่าจะเป็นแต่ละครั้งจะน้อยจนแทบไม่มีนัยสำคัญเมื่อจำนวนบล็อกมีเยอะมาก ๆ นั่นเองครับ แต่ถึงแม้จะช่วยให้การเขียนบล็อกไวขึ้น กลไกดังกล่าวก็ยังมีข้อเสียในเรื่องความสิ้นเปลืองพลังงานครับ

Avalanche’s consensus (source: official docs)

ในปี 2018 มีการคิดค้นกลไกฉันทามติรูปแบบใหม่ ที่ชื่อว่า Avalanche ครับ ซึ่งผู้คิดค้นกล่าวว่า จะช่วยรวมข้อดีของกลไกทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน นั่นคือทำให้การเขียนบล็อกใหม่ทำได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังคงความถูกต้องระดับ classical consensus อยู่ครับ โดยหลักการของ Avalanche คือการทำ Network Gossipping ครับ โดยในเครือข่ายบล็อกเชนของ Avalanche จะมี validator node ที่คอยทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมอยู่ (การที่จะเป็น validator node ได้ จะต้องทำการวาง (stake) AVAX ซึ่งเป็นโทเคนหลักบนบล็อกเชนของ Avalanche) โดย node แต่ละ node จะทำการ “กระซิบ” ถามความถูกต้องของธุรกรรมต่าง ๆ ที่ถูกเพิ่มเข้ามาบนบล็อกเชน กับ node รอบข้าง ซึ่งกระบวนการก็จะเป็นตามนี้ครับ

  1. เมื่อมีธุรกรรมใหม่ถูกเพิ่มเข้ามาบนบล็อกเชน node จะทำการเลือกธุรกรรมที่คิดว่าถูกต้อง และรวมกลุ่มธุรกรรมเหล่านั้นไว้
  2. node จะทำการสุ่มเลือก node อื่น ๆ จำนวนหนึ่ง (โอกาสในการถูกสุ่มของ node จะแปรผันตามปริมาณ AVAX ที่ stake เอาไว้)
  3. node จะทำการถาม node อื่น ๆ ที่สุ่มออกมาได้ ว่าธุรกรรมที่ตนเองคิดว่าถูกต้อง(ที่เลือกไว้ตั้งแต่ข้อ 1.) คนอื่นคิดว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้อง ก็จะยืนยันความถูกต้องของธุรกรรม แต่ถ้ามี node อื่น ๆ คิดว่าไม่ถูก ก็จะทำการปฏิเสธความถูกต้องของธุรกรรมนั้น ๆ ครับ

Node จะต้องทำสามขั้นตอนดังกล่าวซ้ำจำนวนหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกรรมนั้นถูกต้องจริง ๆ ครับ ส่วนค่าตัวแปรต่าง ๆ เช่น จะต้องให้ node ที่ถูกสุ่มมา ยอมรับจำนวนเท่าไหร่ หรือจะต้องทำซ้ำกี่รอบ ตัวโปรโตคอลจะเป็นผู้กำหนด (ซึ่งก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้) ครับ ซึ่งกลไกดังกล่าวถูกนำมาใช้งานกับ X-Chain ครับ โดยทีม Avalanche ตั้งชื่อกลไกของ X-Chain ว่า Snowball Algorithm

Directed Acyclic Graph (DAG)

DAG (source: official docs)

เป็นวิธีการเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่งครับ โดยจะเก็บข้อมูลในรูปแบบของลำดับของตัวแปรต่าง ๆ โดยแต่ละตัวแปรจะมีตัวแปรที่มาก่อน (ancestor) และตัวแปรที่มาทีหลัง (descendant) ครับ (เช่น จากรูป ตัวแปร c มี ancestors คือ a และมี descendant คือ d กับ e) ซึ่ง Avalanche เองก็ประยุกต์ใช้แนวคิด DAG ในการทำงานของ X-Chain ครับ ถ้าเป็นบล็อกเชนอื่น ๆ ที่เรารู้จักกันอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum ตัวบล็อกเชนจะมีลักษณะเป็นเส้นตรง (แต่ละบล็อกจะมีบล็อกก่อนหน้า 1 บล็อก และบล็อกที่ตามมาอีก 1 บล็อก เท่านั้น) ครับ แต่การเขียนบล็อกเชนแบบ DAG ทำให้แต่ละบล็อกมีจำนวนบล็อกที่เกิดขึ้นก่อนหน้าและบล็อกที่เกิดขึ้นตามมาได้ไม่จำกัดครับ นั่นทำให้กระบวนการเชื่อมต่อบล็อกของ Avalanche จะมีความแตกต่างออกไปจากกระบวนการเดียวกันของบล็อกเชนอื่น ๆ เล็กน้อย ตรงที่…

  • ถ้าเป็นบล็อกเชนอื่น ๆ แต่ละธุรกรรมจะต้องถูกยอมรับจากผู้ตรวจสอบทั้งหมด (หรืออย่างน้อยมากกว่าสัดส่วนที่กำหนดไว้) ก่อน จึงจะถูกเขียนลงบนบล็อกใหม่ได้ ถ้าหากมีสองธุรกรรมที่มีความขัดแย้งกัน จะต้องมีการโหวตเพื่อเลือกธุรกรรมอันใดอันหนึ่งให้เรียบร้อยก่อน
  • แต่สำหรับ Avalanche ถ้าหากมีสองธุรกรรมที่ขัดแย้งกัน ทั้งสองจะถูกเขียนลงบน DAG ครับ (แตกกิ่งออกมาจากบล็อกก่อนหน้า) ซึ่งในการเขียน แต่ละธุรกรรมจะมีคะแนนความเชื่อมั่น (confidence) ซึ่งวัดจากจำนวน node ที่ยอมรับในธุรกรรมนั้น ๆ ครับ จากนั้นเมื่อมีธุรกรรมใหม่เกิดขึ้นหลังจากนั้นอีก ธุรกรรมใหม่ก็จะถูกเขียนต่อจากธุรกรรมที่มีคะแนนความเชื่อมั่นสูงสุดครับ

AVAX

AVAX

เป็นโทเคนหลักประจำบล็อกเชนของ Avalanche ครับ โดยมีปริมาณอุปทานสูงสุด (maximum supply) อยู่ที่ 720 ล้านเหรียญ และมีการแบ่งสัดส่วนอุปทานให้กับผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ดังนี้

  • 50% ถูกล็อกไว้เพื่อเป็นค่าตอบแทนสำหรับการ stake
  • 15.97% ถูกขายในการระดมทุนในรอบต่าง ๆ ทั้งแบบ private sale และ public sale ครับ
  • 9.26% ถูกแบ่งให้กับ Avalanche Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยดูแลการพัฒนาเครือข่ายของ Avalanche ครับ โดย AVAX ส่วนนี้จะถูกใช้งานหลากหลายรูปแบบ เช่น เป็นค่าตอบแทนสำหรับนักพัฒนาที่เจอจุดผิดในโปรแกรม (bug bounty), เป็นต้นทุนสำหรับการโฆษณา เป็นต้นครับ
  • 7% ถูกแบ่งให้กับชุมชนนักพัฒนาอิสระ ที่ช่วยพัฒนาบล็อกเชน
  • 5% ถูกแบ่งให้กับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เช่นบริษัท องค์กรที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานบล็อกเชนของ Avalanche
  • 2.77% ถูก airdrop ให้กับชุมชนหลายแห่ง เพื่อเป็นการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใช้งานบล็อกเชนของ Avalanche รวมถึงคนที่มาทดลองใช้งาน testnet ของ Avalanche ด้วยครับ
  • 10% ถูกแบ่งให้กับสมาชิกของ Ava Labs ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนา Avalanche

โดยในส่วนของอุปสงค์ (demand) ก็จะมาจากสองส่วนหลัก ๆ ครับ

  1. ใช้วางเป็นหลักประกัน (stake) สำหรับ validator ที่ต้องการจะตรวจสอบธุรกรรมครับ โดย validator จะต้องทำการวาง AVAX บน P-Chain อย่างน้อย 2,000 AVAX เพื่อรับสิทธิในการถูกสุ่มขึ้นมาตรวจสอบธุรกรรม (ยิ่งวาง AVAX เยอะ ยิ่งมีโอกาสเยอะ) แต่สำหรับบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง หรือไม่ได้มีปริมาณ AVAX ที่มากพอ ก็สามารถฝากวาง (delegate) AVAX ให้กับ validator ใด ๆ ได้เช่นกันครับ โดยจะต้องฝากวางขั้นต่ำ 25 AVAX และทาง validator แต่ละเจ้าก็จะมีการคิดค่าธรรมเนียมส่วนแบ่งรายได้จาก delegator ในอัตราที่แตกต่างกันไป โดยในปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนของ validator และ delegator จะอยู่ที่ 9.11% และ 8.69% ตามลำดับ และมีระยะเวลาปลดการวาง (locking period) อยู่ที่ 14 วันครับ
  2. ใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม (gas fee) ของบล็อกเชนทุกบล็อกเชนบนเครือข่ายของ Avalanche ครับ โดยทั้งหมดของค่าธรรมเนียมที่ถูกจ่าย จะถูก burn ทั้งหมด นั่นแปลว่า validator บนบล็อกเชนของ Avalanche จะมีรายได้จากแค่ staking reward ที่โปรโตคอลกักเก็บไว้ให้ 50% ของปริมาณอุปทานทั้งหมดเท่านั้นครับ จะไม่มีรายได้เพิ่มเติมจากส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมแต่อย่างใด

Partnerships

Arweave

Avalanche x Arweave (source: Medium)

Arweave เป็นโปรโตคอลในการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูล พร้อมกับกลไกฉันทามติ Proof-of-Access ครับ โดยข้อมูลที่ถูกเก็บอยู่บนโปรโตคอลของ Arweave จะถูกกระจายและทำสำเนาไว้กับคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายหลาย ๆ เครื่อง ทำให้ยากต่อการแก้ไข และลดโอกาสในการเกิด single point of failure ของการกักเก็บไฟล์ครับ

โดยการจับมือในครั้งนี้จะทำให้ผู้ใช้งาน Avalanche สามารถใช้บริการ Arweave ในการกักเก็บไฟล์และข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งก็จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้สร้าง DApp หรือผู้สร้าง NFT บนบล็อกเชนของ Avalanche ในการเก็บข้อมูลรูปภาพและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องครับ

สำหรับใครที่อยากทำความรู้จัก Arweave เพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านที่บทความนี้ได้เลยครับ

Wildlife Studios

Avalanche x Wildlife Studios (source: Medium)

Wildlife Studios เป็นบริษัทผู้พัฒนาเกมส์มือถือยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติบราซิลครับ โดยเป็นบริษัทเจ้าของเกมส์ดังอย่าง Tennis Clash, Sky Warriors, Block Craft, War Machines และ War Heroes ซึ่งมียอดดาวน์โหลดรวมกันกว่า 2.2 พันล้านครั้ง และทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐครับ โดย Wildlife Studios ได้ทำการบุกตลาด Web3 โดยจะนำ Castle Crush ซึ่งเป็นเกมส์แนววางแผนที่มีจำนวนผู้เล่นรายเดือนกว่า 1 ล้านคน มาสร้างเป็น subnet ในเครือข่ายของ Avalanche ครับ

ด้วยการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ Castle Crush รูปแบบใหม่บนเครือข่ายของ Avalanche จะมีลูกเล่นเหมือนกันกับ GameFi อื่น ๆ ครับ ได้แก่ การ์ดในเกมส์จะอยู่ในรูปแบบของ NFT และมีระดับความหายากที่แตกต่างกันไป และผู้เล่นสามารถซื้อ-ขายการ์ดและไอเทมต่าง ๆ ในเกมส์ได้ ด้วยสกุลเงิน ACS ซึ่งก็จะมีมูลค่าจริง ๆ ด้วยครับ

Togg

ต้นแบบรถ Sedan EV ของ Togg

Togg เป็นบริษัทผู้ผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) สัญชาติตุรกีครับ โดยในช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมา Togg ได้ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับ Ava Labs ในการพัฒนาบริการที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานรถยนต์ EV ผ่านเครือข่ายบล็อกเชนของ Avalanche และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด Internet-of-Things (IoT) และ Machine-to-Machine (M2M) เพื่อให้รถยนต์ EV ของบริษัท สามารถติดต่อสื่อสารหากันได้ ผ่านการเขียน smart contract บนบล็อกเชนของ Avalanche ครับ นอกจากนี้ Togg ยังจะใช้บล็อกเชนของ Avalanche ในการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชิ้นส่วนของรถแต่ละคัน และข้อมูลประวัติการซ่อมแซมของรถอีกด้วยครับ ทำให้ข้อมูลประวัติการผลิตและซ่อมบำรุงของรถ EV ของ Togg มีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นอีกด้วย

Roadmap

Emin Gün Sirer ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Avalanche ได้กล่าวไว้ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า เป้าหมายในปี 2022 รวมถึงอนาคต ของ Avalanche คือการเป็นบล็อกเชนที่มีมูลค่า total value locked (TVL) สูงที่สุด และเป็นบล็อกเชนที่มีการสร้างสินทรัพย์ใหม่ที่หลากหลาย ชนิดที่ไม่มีใครเทียบได้ และสามารถตรวจสอบธุรกรรม (สำหรับทุก ๆ subnets รวมกัน) ได้ 1 ล้านธุรกรรมต่อวินาทีครับ ซึ่งแผนการพัฒนาของตัวโปรเจกต์ ไม่ได้มีการเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรครับ แต่คุณ Emin จะออกสื่อค่อนข้างบ่อย และเราสามารถติดตามแผนการพัฒนาโปรเจกต์ต่าง ๆ ได้จากคลิปเหล่านี้ครับ

สิ่งหนึ่งที่ Avalanche กำลังจะทำ คือ super pruning ครับ โดย super pruning เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการลดขนาดของบล็อกในบล็อกเชนของ Avalanche ครับ ต้องเท้าความว่าขนาดบล็อกที่ใหญ่มาก ๆ จะทำให้ผู้ตรวจสอบ (validator) บางคน ที่ไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงนัก ไม่สามารถกักเก็บไฟล์ที่มีขนาดใหญ่เท่านั้นได้ และจะทำให้จำนวนผู้ตรวจสอบน้อยลง ส่งผลเชิงลบกับความกระจายศูนย์ (decentralization) ของบล็อกเชนแบบตรง ๆ เลยครับ การทำ super pruning จะช่วยให้ตัวบล็อกในบล็อกเชน ไม่ได้มีขนาดที่เพิ่มขึ้นจนใหญ่เกินไป ถ้าหากตัวเครือข่ายมีการเติบโตและมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นครับ

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ Avalanche ในตอนนี้กำลังทำตัวเป็นเครือข่ายของหลาย ๆ บล็อกเชนที่มารวมตัวกัน (ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ Polkadot และ Cosmos ครับ ซึ่งทุก ๆ คนสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Polkadot ได้ที่นี่ และ Cosmos ได้ที่นี่เลยครับ) และเมื่อมีการรวมตัวกันของบล็อกเชน สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ นั่นคือการทำให้บล็อกเชนที่มารวมตัวกันนั้น สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ครับ ซึ่งคุณ Emin ก็เคยกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์ในช่วงเดือนเมษายน 2022 ว่าทีม Ava Labs เองกำลังพัฒนาเทคโนโลยีในส่วนนี้อยู่ แต่ก็ไม่ได้มีกำหนดเวลาชัดเจนครับว่าจะได้ใช้งานกันเมื่อไหร่

Concerns

ถึงแม้ Avalanche จะเป็นโปรเจกต์ที่ดูมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าบล็อกเชนตัวอื่นมาก ๆ มีผู้ก่อตั้งที่มีประวัติที่ไม่ธรรมดา และมีการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่น ๆ ที่หลากหลาย แต่ตัวโปรเจกต์เองก็ยังมีข้อควรระวังอยู่หลายเรื่องครับ

Terra’s collapse

Terra’s collapse (source: The Coin Republic)

ข่าวที่ดังที่สุดในโลกคริปโตเคอร์เรนซีในช่วงกลางปีที่ผ่านมาคงจะหนีไม่พ้นการล่มสลายของ Terra ซึ่งเป็นบล็อกเชนขนาดใหญ่ที่มีโทเคน UST ซึ่งเป็นโทเคนที่ (เคย) ตรึงมูลค่าไว้กับสกุลเงินดอลลาร์ และมี LUNA ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชน Terra ครับ ในบทความนี้ผมจะไม่ลงรายละเอียดว่าทำไม Terra ถึงล่มสลายนะครับ แต่ประเด็นคือก่อนหน้าการล่มสลายเพียง 1–2 เดือน Terra และ Avalanche ได้มีการจับมือเป็นพันธมิตรกันครับ โดย Avalanche จะนำ UST ซึ่งเป็นโทเคนที่ (เคย) ตรึงมูลค่า 1:1 กับสกุลเงิน USD มาใช้งานบนบล็อกเชน Avalanche ครับ ซึ่งการใช้งานดังกล่าวจะเพิ่มความต้องการใช้งาน UST ทำให้บล็อกเชน Terra เติบโตขึ้นนั่นเอง ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้เราจะเห็น Anchor ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดบนบล็อกเชนของ Terra มาเปิดบริการบนบล็อกเชนของ Avalanche อีกด้วยครับ และทาง Terra ได้มีการซื้อ AVAX และเก็บไว้ใน Luna Foundation Guard (LFG) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีหน้าที่ช่วยพยุงราคาของ LUNA ในกรณีที่ตลาดถูกเทขาย และในขณะเดียวกัน ทาง Avalanche Foundation ก็มีการซื้อ LUNA มาเก็บไว้ด้วยครับ (เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนโทเคนซึ่งกันและกัน)

ซึ่งทุก ๆ คนก็น่าจะทราบดีนะครับว่าในช่วงกลางปี 2022 ราคาของ LUNA ร่วงหนักมาก ๆ ติดต่อกันหลายวัน ทำให้ LFG เทขายสินทรัพย์ที่ถืออยู่ออกมาจนหมดครับ ส่งผลให้ราคาของ AVAX ร่วงลงไปไม่น้อย และในขณะเดียวกัน LUNA ที่ทาง Avalanche Foundation ถืออยู่ ก็เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีมูลค่าใด ๆ หลงเหลืออยู่แล้วครับ คิดเป็นความเสียหายกับ Avalanche Foundation กว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าและภาพลักษณ์ของโปรเจกต์เลยครับ

Regulations

Cryptocurrency regulations (source: Stat on Food)

ประเด็นเรื่องกฎหมายจริง ๆ แล้วเป็นประเด็นต่อเนื่องมาจากประเด็นเรื่อง Terra ครับ หลาย ๆ คนที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับการควบคุมการใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีจากภาครัฐ น่าจะพอทราบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์การล่มสลายของ Terra แล้ว ผู้คนบางส่วนจะเริ่มมีความเห็นว่าคริปโตเคอร์เรนซีอาจจะต้องมีการควบคุมบางอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างที่ Terra ได้สร้างเอาไว้ ซึ่งถ้ามีการเพิ่มการกำกับดูแลจริง ๆ Avalanche น่าจะเป็นโปรเจกต์แรก ๆ ที่ถูกตรวจสอบเลยครับ เนื่องจาก Avalanche กับ Terra มีความสัมพันธ์กันก่อนข้างเยอะ จากที่ผมกล่าวไปว่ามีการแลกเปลี่ยนโทเคนระหว่างกัน ทำให้ Avalanche เป็นตัวเต็งที่จะถูกกำกับดูแลการใช้งานจากหน่วยงานตรวจสอบและควบคุมหลายแห่งเลยครับ

Summary

ถ้าใครที่เลือกลงทุนในโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซี โดยดูจากประวัติของผู้ก่อตั้ง ผมว่าคุณ Emin มีโปรไฟล์ที่ไม่ธรรมดาครับ ถ้าเลือกลงทุนจากประสิทธิภาพของบล็อกเชน Avalanche เป็นบล็อกเชน smart contract ที่เรียกว่าแทบจะเร็วที่สุดแล้วในบรรดาบล็อกเชนทั้งหมด Avalanche เป็นบล็อกเชนที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ๆ ครับ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี DAG และการออกแบบที่ซับซ้อน ทำให้ Avalanche สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่สูงได้ ในแบบที่ประสิทธิภาพไม่ลดลง นอกจากนี้บล็อกเชนยังมีการใช้งานที่หลากหลาย มี DApp ขนาดใหญ่หลายอันไปเปิดบนบล็อกเชนแล้ว เป็นระบบนิเวศที่มีมูลค่ามหาศาลเลย และถือเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่น่าจับตามองในระยะยาวครับ

ถึงแม้จะดูมีอนาคตที่สดใส ในระยะสั้น โดยเฉพาะช่วงนี้ Avalanche กำลังเจอมรสุมไม่น้อยเลยครับ เนื่องจากไปเกี่ยวพันกับ Terra ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่เพิ่งล่มสลายไป ทำให้ภาพลักษณ์ของ Avalanche ในตอนนี้ดูแย่ลงไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของโปรเจกต์ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปนะครับ แค่ในช่วงนี้มีข่าวในเชิงลบเยอะพอสมควร แต่ในระยะยาว ผมเชื่อว่า Avalanche ก็ยังเป็นโปรเจกต์ที่น่าจับตามองอีกหนึ่งโปรเจกต์ครับ

Further Read:

Official Website: https://www.avax.network/

Official Docs: https://docs.avax.network/

Consensus: https://docs.avax.network/overview/getting-started/avalanche-consensus

Whitepaper: https://www.avalabs.org/whitepapers

--

--

Pasin Sirirat
Pasin Sirirat

Written by Pasin Sirirat

A Data specialist passionated in Investments currently working in a FinTech startup.

No responses yet