Celo: DeFi on Mobile
ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่คุ้นเคยกับคริปโตเคอร์เรนซีคงจะเข้าใจถึงจุดเด่นของคริปโตเคอร์เรนซีและเทคโนโลยีบล็อกเชน และการประยุกต์ใช้งานบล็อกเชนในหลากหลายอุตสาหกรรมครับ แต่จนถึงปัจจุบันนี้ คนที่ใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีก็ยังถือเป็นส่วนน้อยครับ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งโลก ข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้คริปโตเคอร์เรนซียังไม่สามารถไปถึงการใช้งานในระดับกระแสหลักได้ คือความยากในการใช้งานครับ ผู้ใช้งานที่อาจจะไม่ได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยี จะรู้สึกว่าคริปโตเคอร์เรนซีใช้งานค่อนข้างยาก จะโอนโทเคนให้กับเพื่อนก็ต้องมานั่งจดที่อยู่กระเป๋าที่เป็นรหัสอะไรก็ไม่รู้ ทำให้ผู้คนหลาย ๆ คนยังไม่ใช้งานสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้เป็นกระแสหลักครับ วันนี้ผมจะพาทุก ๆ คนมารู้จักกับโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีตัวหนึ่งที่ตั้งใจจะขยายฐานผู้ใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีให้เพิ่มมากขึ้น โดยทำให้การโอนโทเคนระหว่างผู้คนสามารถทำได้ด้วยการกรอกหมายเลขโทรศัพท์ (แทนที่จะเป็นที่อยู่กระเป๋า) และยังมีคุณลักษณะอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกครับ นั่นก็คือ Celo ครับ ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น ไปติดตามกันครับ
What is Celo?
Celo เป็นบล็อกเชน smart contract layer-1 ที่มีจุดมุ่งหมายจะเป็นตัวกลางการชำระเงิน (means of payment) สำหรับผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก โดย Celo มีเป้าหมายที่จะเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินโดยมีโทรศัพท์มือถือเป็นตัวกลางครับ ในปัจจุบันมีหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ถูกจดทะเบียนหลายพันล้านหมายเลขทั่วโลก แต่มีจำนวนผู้ใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีต่ำกว่า 1 ร้อยล้านคน ซึ่ง Celo เองก็มีเป้าหมายที่จะขยายฐานผู้ใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีให้กว้างขึ้น โดยอำนวยความสะดวกผู้คนผ่านการใช้งานทางโทรศัพท์มือถือครับ
ผู้ร่วมก่อตั้งของ Celo มีทั้งหมด 3 คนด้วยกัน คือ Rene Reinsburg, Marek Olszewski และ Sep Kamvar ครับ โดย Rene จบการศึกษาด้าน MBA จาก MIT และเคยทำงานใน Morgan Stanley, Marek เคยเป็น vice president of engineering ที่ GoDaddy ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีทางด้านเว็บไซต์, Sep จบการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและเป็นผู้ก่อตั้ง Kaltix สตาร์ทอัพที่สร้าง search engine ของตัวเอง (ต่อถูกซื้อกิจการโดย Google) ครับ Celo ถูกพัฒนาโดย cLabs ซึ่งเป็นสมาคมของนักพัฒนาบล็อกเชนจากทั่วทุกมุมโลกครับ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ในหลายเมือง เช่น ซาน ฟรานซิสโก, เบอร์ลิน, บูเอโนส ไอเรส (เมืองหลวงของอาร์เจนตินา) เป็นต้น โดยเป็นสมาคมที่มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีความกระจายศูนย์ (decentralized) เพื่อรองรับการใช้งานของ stablecoin และสินทรัพย์ที่ถูกแปลงเป็นโทเคน (tokenized asset) ผ่านการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะ และการพัฒนาของ Celo อยู่ภายใต้ Celo Foundation ครับ
ใน whitepaper ของ Celo กล่าวว่าคริปโตเคอร์เรนซีมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าสกุลเงินดั้งเดิม (fiat currency) ในการเป็นตัวกลางการชำระเงินในหลากหลายแง่มุม เช่นเรื่องของความเร็ว และต้นทุนการชำระเงิน (ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในการโอนเงินระหว่างประเทศที่มีค่าธรรมเนียมที่สูงและใช้เวลานานพอสมควร) นอกจากนี้คริปโตเคอร์เรนซียังสามารถเขียนโปรแกรมออกมาเป็นสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) เพื่อให้กลไกทางการเงินสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางเหมือนระบบการเงินดั้งเดิมครับ แต่ในขณะเดียวกันคริปโตเคอร์เรนซีก็ยังไม่ได้มีการใช้งานเป็นกระแสหลักในแวดวงการเงินโลก ด้วยความที่มีข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน เช่น การมีปริมาณอุปทาน (supply) ที่กำหนดไว้แน่นอน แต่มีปริมาณอุปสงค์ (demand) ที่คาดเดาได้ค่อนข้างยาก ทำให้ราคาของสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้มีความผันผวนสูง ทำให้หลาย ๆ คนมองว่าคริปโตเคอร์เรนซีไม่เหมาะที่จะใช้เป็นตัวกลางการชำระเงิน อีกปัจจัยหนึ่งคือกลไกการโอนโทเคนบนบล็อกเชน ที่ผู้ใช้งานจะต้องสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่มี public key และ private key และจะต้องทราบ public key ของกระเป๋าที่จะส่งโทเคนไปให้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ใช้งานบางกลุ่ม และทำให้คริปโตเคอร์เรนซียังไม่สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานกลุ่มนี้ได้ Celo จึงถูกพัฒนาขึ้นมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวครับ
Technology
โครงสร้างสถาปัตยกรรมของ Celo จะถูกแบ่งออกเป็นสองชั้นที่ทำงานร่วมกันครับ ชั้นแรกคือชั้นที่เป็นบล็อกเชน และอีกชั้นที่เป็น Core Contract ที่จะเพิ่มลูกเล่นเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมต่าง ๆ ขึ้นมาครับ
Blockchain Layer
บล็อกเชนของ Celo ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Stake (PoS) ประกอบกับวิธีตรวจสอบแบบ Byzantine Fault Tolerant (BFT) โดยในการตรวจสอบธุรกรรมแต่ละครั้งจะมีการสุ่มผู้ตรวจสอบ (validator) จำนวนหนึ่งออกมาตรวจสอบ ซึ่งทาง Celo เองเคลมว่าระบบดังกล่าวจะยังสามารถตรวจสอบธุรกรรมอย่างถูกต้องได้ถึงแม้จะมี validator 1 ใน 3 ที่พยายามจะบิดเบือนข้อมูลครับ
นอกเหนือจาก validator แล้ว Celo ยังมี node อีกด้วยครับ โดย node จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานบล็อกเชนของ Celo และ validator โดยเมื่อผู้ใช้งานทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลธุรกรรมจะถูกส่งมาที่ node ก่อน ซึ่ง node ก็จะได้รับส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมจากผู้ใช้งานด้วยครับ โดย node จะทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลธุรกรรมดังกล่าวไปหา validator และ node อื่น ๆ ครับ ซึ่งคนที่จะเป็น node ไม่จำเป็นจะต้องมีโทเคนใด ๆ ครับ เพียงแค่ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ของทาง Celo ก็สามารถเป็น node ได้เลยครับ
Celo Core Contracts
เป็นอีกหนึ่งชั้นของ Celo ครับ โดยเป็นชั้นที่มีการทำงานของ smart contract ซึ่ง Celo ใช้งาน Ethereum Virtual Machine (EVM) นั่นแปลว่า Celo สามารถเข้าถึงได้ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลอย่าง Metamask และแอปพลิเคชันที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum สามารถเปิดใช้งานบน Celo ได้ทันที ซึ่งในปัจจุบันก็มีแอปพลิเคชันอย่าง Sushiswap และ Beefy Finance มาเปิดใช้งานแล้วครับ
Lightweight Identity
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นครับว่าการระบุตัวตนผู้ใช้งานด้วย public key และ private key มีความซับซ้อนและไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานทั่วไปที่อาจจะไม่ได้คุ้นเคยกับระบบนิเวศคริปโตเคอร์เรนซีมากนัก ในท้องตลาดปัจจุบันมีวิธีการระบุตัวตนที่ชื่อว่า Identity-Based Encryption ครับ โดยการโอนโทเคนไปยังกระเป๋าใดกระเป๋าหนึ่งจะสามารถใช้ “ชื่อ” ของกระเป๋า (เช่น bob@company.com) แทนที่อยู่กระเป๋าได้ แต่วิธีนี้ก็ยังมีข้อเสียครับ นั่นคือวิธีนี้ต้องมี trusted third party เพื่อทำการสร้าง private key และดูแลความถูกต้องของการตั้งชื่อกระเป๋า ทำให้วิธีดังกล่าวมีข้อจำกัดในการใช้งานกับระบบที่มีลักษณะ permissionless อย่างบล็อกเชนครับ
Celo นำเสนอวิธีการระบุตัวตนใหม่ที่ชื่อว่า Address-Based Encryption ครับ โดยวิธีคือเมื่อผู้ใช้งานสร้างกระเป๋าใหม่พร้อมกับ public key และ private key ระบบจะทำการบันทึก public key และชื่อกระเป๋าของผู้ใช้งานลงบนฐานข้อมูลที่ไม่สามารถแก้ไขได้ (append only) โดยที่ทุก ๆ คนในระบบนิเวศของ Celo จะสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลดังกล่าวได้เพื่อเป็นการยืนยันความโปร่งใสของข้อมูลอีกหนึ่งระดับ และมีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของการตั้งชื่อใหม่ ด้วยบล็อกเชนของ Celo เองด้วยครับ โดยชื่อที่ใช้ตั้งก็เป็นได้ทั้งอีเมล หมายเลขโทรศัพท์ หรือที่อยู่ IP ก็ได้ครับ แต่การใช้งานหลัก ๆ น่าจะมาจากการตั้งชื่อด้วยหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถใช้โทรศัพท์ของตนเอง โอนโทเคนไปยังผู้ใช้งานคนอื่น ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้งานคนนั้นได้ครับ
Reputation Signals
จินตนาการการใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ทั่วไปครับ โดยปกติแล้วเราก็มักจะบันทึกหมายเลขของคนที่สนิทกัน และจะติดต่อหาบ่อย ๆ ใช่ไหมครับ Celo เองก็มีการประยุกต์ใช้แนวคิดดังกล่าวในการคำนวณคะแนนความน่าเชื่อถือของกระเป๋าแต่ละกระเป๋าด้วยครับ โดยใช้วิธีที่ชื่อว่า EigenTrust ในการคำนวณความน่าเชื่อถือ โดยวัดค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของกระเป๋าที่เคยติดต่อด้วยครับ ซึ่งคะแนนความน่าเชื่อถือดังกล่าวจะถูกใช้ประโยชน์ในหลายกรณี เช่นการพิจารณาว่าจะอนุมัติธุรกรรมแต่ละธุรกรรมหรือไม่ เป็นต้นครับ
Stabilizing Value
อย่างที่กล่าวไปนะครับว่าปัญหาเรื่องความผันผวนของราคาคริปโตเคอร์เรนซีเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนส่วนมากยังไม่ยอมรับคริปโตเคอร์เรนซีเป็นตัวกลางในการใช้จ่าย Celo แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยนำเสนอ elastic coin supply rule หรือการกำหนดปริมาณอุปทานแบบยืดหยุ่น โดยสามารถปรับปริมาณอุปทานให้เหมาะสมกับปริมาณอุปสงค์ของโทเคนนั้น ๆ ได้ครับ ตัวอย่างคือสกุลเงิน cUSD ซึ่งเป็น stablecoin ประจำบล็อกเชน Celo ที่จะถูกตรึงมูลค่าไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (จะอธิบายเพิ่มเติมในส่วนถัดไป) โดยเมื่อราคา cUSD สูงเกิน 1 ดอลลาร์ (มีปริมาณอุปสงค์เพิ่มสูงขึ้น) ระบบจะทำการผลิต cUSD เพิ่ม ซึ่งจะไม่ได้แจกจ่ายให้กับผู้ใช้งานโดยตรงครับ แต่จะนำไปซื้อคริปโตเคอร์เรนซีสกุลอื่น ๆ ผ่าน smart contract เพื่อนำไปเพิ่มในทุนสำรอง (เป็นหลักการเดียวกันกับการที่ธนาคารกลางอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ในท้องตลาด) และเมื่อราคา cUSD ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ ระบบก็จะใช้ทุนสำรองทำการซื้อ cUSD ในท้องตลาด เพื่อเพิ่มอุปสงค์ของ cUSD ครับ
Tokens
CELO
เป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Celo ครับ อ้างอิงจาก CoinGecko ในปัจจุบัน (ตุลาคม 2022) CELO มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 338 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 121 ในบรรดาคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมด CELO มีปริมาณอุปทานสูงสุด (maximum supply) อยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญ ในปัจจุบันมี CELO ที่หมุนเวียนอยู่ในระบบแล้วประมาณ 460 ล้านเหรียญครับ โดยอุปทานของ Celo สามารถแบ่งสัดส่วนได้ตามนี้ครับ
- 40% ถูกแบ่งไว้เป็นค่าตอบแทนสำหรับการเขียนบล็อกใหม่
- 12% ถูกแบ่งไว้เป็นทุนสำรองสำหรับการพยุงมูลค่าของ cUSD ซึ่งเป็น stablecoin ประจำบล็อกเชน Celo ครับ
- 12% ถูกใช้เพื่อการระดมทุน ซึ่งมีการระดมทุนแบบ private round ไปสองรอบ และมีการเปิดประมูลสาธารณะไปอีกหนึ่งครั้ง
- 19% ถูกแบ่งให้กับผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรเจกต์ ทั้งทีมพัฒนา ผู้ก่อตั้ง ที่ปรึกษา และอื่น ๆ
- 9.5% ถูกแบ่งไว้เพื่อการพัฒนาชุมชนผู้ใช้งานโปรเจกต์
- 7.5% ถูกแบ่งให้กับ cLabs และ Celo Foundation
ในส่วนของการใช้งาน CELO จะมาจากการใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม และผู้ที่ถือ CELO จะได้รับสิทธิ์ในการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างการอัพเกรด (proposal) ใหม่ ๆ ที่มีผู้เสนอเข้ามา และการจะเป็นผู้ตรวจสอบ (validator) บนบล็อกเชนของ Celo ก็จะต้องทำการวาง (stake) CELO อย่างน้อย 10,000 CELO ไว้เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันครับ หรือสำหรับใครที่ไม่ได้ต้องการจะเป็นผู้ตรวจสอบ ก็สามารถเป็นผู้ฝาก (delegator) CELO ของตนให้กับผู้ตรวจสอบคนอื่น ๆ ได้ครับ โดยอัตราผลตอบแทนสำหรับผู้ตรวจสอบและผู้ฝากจะอยู่ที่ 4.7% เท่ากันครับ
cUSD
เป็น stablecoin บนบล็อกเชนของ Celo ที่จะถูกตรึงมูลค่าไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐครับ โดยมีสินทรัพย์ที่อยู่เบื้องหลังการตรึงมูลค่าเป็นเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีหลากหลายสกุลครับ แต่โดยหลัก ๆ จะเป็น BTC กับ ETH และทุก ๆ การทำธุรกรรมบนบล็อกเชนของ Celo จะมี CELO จำนวนหนึ่งที่ถูกแบ่งมาเก็บไว้ในกองกลางที่ทำหน้าที่ตรึงมูลค่า cUSD อีกด้วยครับ
การผลิต (mint) cUSD สามารถทำได้โดยการส่ง CELO มูลค่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ เข้ามาไว้ที่ Celo Foundation reserve ซึ่งเป็นกองกลางของโปรเจกต์ Celo ครับ และในขณะเดียวกันก็สามารถ burn cUSD เพื่อแลก CELO ที่มีมูลค่า 1 ดอลลาร์สหรัฐกลับได้เช่นกัน
และทาง Celo ก็มีแผนที่จะเพิ่ม stablecoin ที่ตรึงมูลค่ากับสกุลเงินดั้งเดิมสกุลอื่น ๆ อีกครับ ในปัจจุบันก็มีการเพิ่มสกุลเงิน cEUR และ cREAL ที่เป็น stablecoin ที่ตรึงมูลค่าไว้กับสกุลเงินยูโรและเรียลบราซิลตามลำดับครับ
Partnership
World Food Programme
World Food Programme (WFP) เป็นหน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายกำจัดปัญหาด้านความอดอยากและการขาดสารอาหารสำหรับผู้คน 821 ล้านคนทั่วโลกที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าว ภายในปี 2030 โดย WFP รับความช่วยเหลือในรูปแบบของเงินสดครับ ไม่ได้รับบริจาคเป็นอาหารแต่อย่างใด เนื่องจาก WFP เชื่อว่าการบริจาคเป็นเงินจะช่วยให้กระบวนการทำงานเป็นไปได้คล่องตัวกว่า และไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของคุณภาพ หรือวันหมดอายุของอาหารครับ
Celo ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 4 บริษัทสตาร์ทอัพที่จะช่วยเหลือ WFP ในภารกิจข้างต้นครับ ด้วยเป้าหมายของ Celo ที่จะช่วยให้ผู้คนหลายล้านคนบนโลก สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ทำให้เป้าหมายของ Celo ตอบโจทย์การพัฒนากระบวนการทำงานของ WFP ครับ โดยการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ผ่าน WFP จะสามารถทำได้ผ่านบล็อกเชนของ Celo ครับ
Flow Carbon
ในเดือนมีนาคม 2022 Celo Foundation และ Climate Collective ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของบริษัทหลาย ๆ แห่งที่มีเป้าหมายที่จะใช้เทคโนโลยี Web3 เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับ Flow Carbon ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศครับ โดยความร่วมมือดังกล่าวจะมีการสร้าง Voluntary Carbon Market (VCM) ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นสัญญาแสดงปริมาณคาร์บอนที่บริษัทแห่งหนึ่งจะสามารถปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้ โดยตลาดซื้อขายดังกล่าวจะถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชนของ Celo ครับ โดย Flow Carbon เองมีโทเคนที่ชื่อว่า Goddess Nature Token (GNT) ซึ่งเป็นโทเคนที่มีมูลค่าเทียบเท่ากับคาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดทั่วไป และ Flow Carbon จะนำ GNT เข้ามาใช้งานบนบล็อกเชนของ Celo ครับ และในอนาคตจะมีการเพิ่ม GNT เข้าไปเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ของ Celo Foundation Reserve ที่เป็นทุนสำรองเพื่อพยุงมูลค่าของ cUSD อีกด้วยครับ
Flow Carbon ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ Celo ในการขยายฐานการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนในวงกว้างครับ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีกำหนดการแน่นอนว่าตลาดซื้อขายดังกล่าวจะปล่อยออกมาใช้เมื่อไหร่ ก็ต้องรอติดตามกันต่อไปครับ
Concerns
Celo เป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวครับ ด้วยความตั้งใจตั้งต้นที่จะให้แพลตฟอร์มบล็อกเชนเข้าถึงได้ผ่านการใช้งานทางโทรศัพท์มือถือ ทำให้ Celo ถูกออกแบบมาให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานครับ แต่ถึงอย่างนั้น Celo เองก็ยังเผชิญความท้าทายในหลายจุดด้วยกัน วันนี้ผมจะขอยกตัวอย่างสองความท้าทายหลัก ๆ ของโปรเจกต์มานะครับ
Interoperability
เนื่องจากบล็อกเชนแต่ละตัวถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละบล็อกเชนมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไปครับ แต่ที่สำคัญคือบล็อกเชนจะทรงพลังยิ่งขึ้นถ้าหากสามารถใช้งานร่วมกันกับบล็อกเชนอื่น ๆ ได้ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้โปรเจกต์ที่วางตัวเองเป็นฐานรากของบล็อกเชนต่าง ๆ อย่าง Cosmos หรือ Polkadot ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในปัจจุบัน (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Cosmos ได้ที่นี่ และ Polkadot ได้ที่นี่) และบล็อกเชนใหญ่ ๆ หลาย ๆ ตัวก็มีการสร้างสะพาน (bridge) เพื่อเชื่อมต่อกับบล็อกเชนอื่น ๆ แล้วครับ ในส่วนของตัว Celo เองยังมีการเชื่อมต่อในรูปแบบดังกล่าวค่อนข้างน้อยครับ ซึ่งก็จะเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการขยายฐานผู้ใช้งานของบล็อกเชน ซึ่งก็ต้องรอติดตามกันต่อไปครับว่าจะมีข่าวการสร้างสะพานเชื่อมต่อบล็อกเชนของ Celo กับบล็อกเชนอื่น ๆ ในอนาคตหรือไม่
DApps
บล็อกเชนที่มี smart contract เป็นบล็อกเชนที่น่าจับตามองครับ เนื่องจากการมี smart contract ทำให้บล็อกเชนสามารถขยายฐานผู้ใช้งาน และเพิ่มความหลากหลายของแอปพลิเคชันได้ นั่นทำให้บล็อกเชน smart contract อย่าง Ethereum, Avalanche, Polygon และ Solana มีปริมาณสินทรัพย์ภายในบล็อกเชนสูงมาก ๆ และมีแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนที่หลากหลายครับ Celo เองก็มี smart contract เหมือนกัน แต่ดูเหมือนว่าแอปพลิเคชันบน Celo จะยังไม่ได้มีเยอะ และยังไม่มีความหลากหลายเท่าบล็อกเชนอื่น ๆ ที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น อ้างอิงจาก Defillama มูลค่าสินทรัพย์ภายในบล็อกเชน (total value locked: TVL) ของ Celo ปัจจุบันอยู่ที่ 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐครับ ในขณะที่บล็อกเชนสี่ตัวที่ผมกล่าวไปข้างต้น ทุกตัวล้วนมีมูลค่า TVL สูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั้งสิ้นครับ ความท้าทายที่ Celo กำลังเผชิญคือตัวโปรเจกต์จะสามารถดึงดูดให้นักพัฒนามาพัฒนาแอปพลิเคชันบน Celo ได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องติดตามดูกันต่อไปครับ
Summary
Celo ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกไกลครับ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะขยายฐานผู้ใช้งานบล็อกเชนไปยังผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ซึ่งยังมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้งานบล็อกเชนอีกหลายล้านคน และ Celo เองก็ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายและสะดวกผ่านโทรศัพท์มือถือ ด้วยการที่ผู้ใช้งานสามารถโอนโทเคนบนบล็อกเชนของ Celo ไปยัง “หมายเลขโทรศัพท์มือถือ” ของผู้ใช้งานคนอื่น ๆ แทนที่จะเป็นที่อยู่กระเป๋าเงินดิจิทัล ที่หลาย ๆ คนที่ไม่คุ้นเคยกับบล็อกเชน จะรู้สึกว่าใช้งานยาก และต้องมานั่งจดเลขกระเป๋าของเพื่อน ๆ แต่ในกรณีของ Celo ผู้ใช้งานทั่วไปก็จะไม่ได้รู้สึกยากเย็นอะไรกับการใช้งานครับ นอกจากนั้น Celo เองยังตั้งเป้าในการช่วยเหลือสภาพแวดล้อมของโลก สังเกตุได้จากการจับมือเป็นพันธมิตรกับ Flow Carbon ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่า Celo เองอาจจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรหรือหน่วยงานอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคตครับ แต่ Celo เองก็ยังมีความท้าทาย เนื่องจากยังเป็นบล็อกเชนขนาดเล็ก แอปพลิเคชันก็อาจจะยังไม่ได้มีหลากหลายมากนัก ก็ต้องรอดูกันต่อไปครับว่า Celo จะสามารถเติบโตไปได้ไกลแค่ไหน และจะสามารถทำตามเป้าหมายที่จะให้ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ หันมาใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนได้หรือไม่ครับ
Further Read:
Official Website: https://celo.org/
Whitepaper: https://celo.org/papers/whitepaper
Official Docs: https://docs.celo.org/