Enjin: เครื่องยนต์แห่งโลก Blockchain Gaming

Pasin Sirirat
6 min readMay 14, 2022

--

Enjin (source: CoinNewsSpan)

GameFi กำลังเป็นที่ถูกพูดถึงในทุก ๆ วันนี้นะครับ ด้วยลักษณะที่แตกต่างออกไปจากเกมส์รูปแบบเดิม ๆ ที่ไอเทมในเกมส์ ซึ่งเป็น Non-Fungible Token (NFT) มีมูลค่าจริง ๆ ทำให้หลาย ๆ คนเปลี่ยนมาเล่นเกมส์ในรูปแบบใหม่นี้เยอะขึ้น ในปัจจุบันเองก็มีโปรเจกต์ GameFi ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเลยนะครับ บ้างก็รุ่ง บ้างก็ร่วง

พูดถึงโลกคริปโตเคอร์เรนซี หัวใจสำคัญที่หลาย ๆ คนพูดถึงคือความสามารถในการเชื่อมต่อระหว่างบล็อกเชน (interoperability) เนื่องจากบล็อกเชนแต่ละบล็อกเชนก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจะไม่มีบล็อกเชนเดียวมาแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่อยู่บนโลกนี้ ผมว่าวงการเกมส์ก็คล้าย ๆ กันนะครับ คงจะไม่มีเกมส์ ๆ เดียวที่จะเป็นผู้ชนะและคนทุกคนที่เล่นเกมส์จะมาเล่นเกมส์นี้ ดังนั้นปัจจัยสำคัญในฟากฝั่งวงการ GameFi ก็คือการมีแพลตฟอร์มที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างและเชื่อมต่อเกมส์หลาย ๆ เกมส์เข้าด้วยกัน วันนี้ผมจะพาทุก ๆ คนมาทำความรู้จักกับโปรเจกต์ที่เกิดมาเพื่อเป็นอย่างที่ผมกล่าวไว้ จะเป็นอย่างไรนั้น ไปรู้จัก Enjin กันครับ

What is Enjin?

หลาย ๆ คนอาจจะมีภาพในหัวว่า Enjin เป็นแพลตฟอร์มเกมส์ เพราะเรามักจะได้ยินชื่อ Enjin กับคำอย่าง Metaverse และ Play-to-Earn Game แต่จริง ๆ โปรเจกต์ Enjin มีขอบเขตมากกว่านั้นครับ Enjin เป็นแพลตฟอร์มสำหรับสร้าง Non-Fungible Token (NFT) และเป็นระบบนิเวศสำหรับการใช้งาน NFT โดยการใช้งานดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันแพลตฟอร์ม Enjin จะถูกใช้งานหลัก ๆ ในวงการเกมส์ แต่ในอนาคตทีม Enjin มีแผนที่จะขยับขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกหลากหลายครับ

ถ้าหากถามว่าความแตกต่างของเกมส์ที่สร้างอยู่บน Enjin จะมีความแตกต่างจากเกมส์อื่น ๆ ที่เราเล่นกันอย่างไร คำตอบคือตัว Enjin ทำงานอยู่บนบล็อกเชน Ethereum ครับ ดังนั้นตัวผู้เล่นจะมีสิทธิ์ครอบครองไอเทมต่าง ๆ ในเกมส์จริง ๆ โดยมีบล็อกเชนเป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์นั้น ซึ่งเกมส์ในรูปแบบก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำแบบนี้ได้ครับ นอกจากนี้ไอเทมของเกมส์แต่ละเกมส์ภายในเครือข่ายของ Enjin ยังสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้อีกด้วย ถือเป็นฟีเจอร์เด่นที่ทำให้เกมส์ในระบบนิเวศของ Enjin มีความน่าสนใจขึ้นมาเยอะเลยครับ

Products

Enjin มีการสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายออกมาตอบโจทย์คนที่โลดแล่นอยู่ในวงการคริปโตเคอร์เรนซีครับ ไม่ว่าจะเป็นสาย NFT / สาย GameFi / สายถือยาว หรือสายเทรด ก็สามารถใช้งานแพลตฟอร์ม Enjin ได้ ส่วนผลิตภัณฑ์จะมีอะไรบ้างนั้นเราไปดูกันครับ

Enjin Wallet

Enjin Wallet

เป็น non-custodial wallet ของ Enjin ครับ ซึ่งโดยพื้นฐานก็มีรูปแบบการใช้งานเหมือนกับกระเป๋าเงินดิจิทัลที่มีลักษณะ non-custodial ตัวอื่น ๆ เช่น Metamask / SafePal / Exodus, มีฟีเจอร์ทั่วไปเช่นโอนโทเคน (ทั้ง fungible และ non-fungible) หรือเชื่อมต่อกับ hardware wallet อย่าง Trezor หรือ Ledger ครับ ซึ่งในตอนนี้ผมเองมองว่ากระเป๋าของ Enjin ยังไม่ได้มีความโดดเด่นจากกระเป๋าเงินดิจิทัลอื่น ๆ สักเท่าไหร่ แต่ในอนาคตความน่าสนใจของกระเป๋า Enjin อยู่ที่การสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง Ethereum, Kusama, และ Polkadot รวมถึง Efinity ซึ่งเป็นบล็อกเชนใหม่ที่ทาง Enjin กำลังพัฒนาบน Polkadot parachain (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Polkadot ได้ที่นี่) ซึ่งถ้าหากทำสำเร็จ เราจะสามารถโอนโทเคนไป-กลับระหว่าง Ethereum และ Polkadot ได้ครับ รวมถึงการเชื่อมต่อกับ Efinity ที่น่าจะทำได้เรียบเนียนกว่ากระเป๋าอื่น ๆ เพราะทีมพัฒนาเป็นทีมเดียวกันอีกด้วย

Note: ตอนนี้ทาง Enjin มีแจก free NFT ด้วยนะครับ ใครสนใจก็ไปโหลด Enjin wallet (iOS / Android), สร้าง wallet และจด phrasesใส่กระดาษให้เรียบร้อย จากนั้นเข้า https://enjin.io/products/wallet แล้วเลื่อนลงมาตรง Claim Free NFTs แล้วใช้ตัวสแกน QR code ใน Enjin wallet สแกน QR code บนหน้าเว็บ เท่านี้เราก็จะได้ NFT มาละครับ

Enjin Platform

Enjin Platform

เป็นแพลตฟอร์ม one stop service ของ Enjin สำหรับคนที่อยากจะสร้าง NFT ไม่ว่าจะนำไปใช้ในเกมส์, ดนตรี, กีฬา ก็สามารถสร้างได้ โดยไม่จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมครับ โดยนักพัฒนาสามารถเริ่มต้นสร้างและผลิต (mint) NFT ได้ที่ Enjin Platform โดยทำการสมัคร สร้างโปรเจกต์ใหม่ และผูกกระเป๋า Enjin ของตัวเอง เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้าง NFT ได้แล้วครับ

Enjin SDK

Enjin Platform ยังมี software development kit (SDK) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาโปรแกรมบน Enjin ด้วยภาษาที่ถนัด ซึ่งในปัจจุบันก็รองรับภาษาอย่าง C++, C# และ Java ครับ

GraphQL API

Enjin Platform มีการเชื่อมต่อกับ GraphQL ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการดึง (query) ข้อมูลครับ โดยจะมีจุดเด่นเหนือกว่า REST API ตรงที่ REST API ในการดึงข้อมูล 1 ครั้งจะต้องใช้ 1 url ดังนั้นการดึงข้อมูลจากหลายแหล่งจะต้องทำการดึงมากกว่า 1 ครั้ง แต่ใน GraphQL API เราสามารถส่ง request เพียงครั้งเดียวเพื่อขอข้อมูลทั้งหมดได้ครับ

ซึ่งทีม Enjin ก็มีทำ GraphQL documentation ไว้ด้วยครับ ไปศึกษาต่อได้ที่นี่เลย

EnjinX

EnjinX

เป็นตลาดซื้อ-ขาย NFT ภายในระบบนิเวศของ Enjin ครับ อย่างที่กล่าวไปครับว่าเวลาเรา mint NFT ในเกมส์ออกมาหนึ่งชิ้น ถ้าเป็นเกมส์ปกติ NFT นั้นก็จะใช้ได้แค่ในเกมส์ ๆ นั้น แต่ NFT ใน Enjin สามารถนำไปใช้ในเกมส์หรือแอพพลิเคชันอื่น ๆ ภายในระบบนิเวศของ Enjin ได้ครับ ซึ่งตลาดในการซื้อขาย NFT ก็คือ EnjinX โดยผู้ใช้งานสามารถซื้อ-ขาย NFT ได้อย่างอิสระ และสามารถเชื่อมต่อกระเป๋า Enjin เพื่อใช้ในการจ่ายเงินได้ จนถึงตอนนี้ก็มีสินทรัพย์กว่า 3.2 ล้านชิ้นที่ถูกซื้อ-ขายบน EnjinX แล้วครับ

JumpNet

JumpNet (source: Twitter)

เป็น Ethereum scaling solution ที่มีฟังก์ชัน smart contract ของทาง Enjin เองครับ โดยเป็น top-up layer ที่ใช้กลไกฉันทามติแบบ Proof-of-Authority (PoA) แทนที่จะเป็น Proof-of-Work สำหรับ Ethereum (หรือ Proof-of-Stake สำหรับ Ethereum เวอร์ชันใหม่ที่กำลังพัฒนาอยู่) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถ mint และซื้อ-ขาย NFT ได้แบบไม่มีค่าธรรมเนียม และง่ายต่อการใช้งานครับ โดยเราสามารถโอนเหรียญ ENJ ระหว่าง Ethereum กับ JumpNet ได้ และสามารถส่ง ENJ ให้กระเป๋าอื่น ๆ ได้ฟรี รวมถึงธุรกรรมอื่น ๆ เช่นซื้อ NFT, mint NFT หรือกรณีผู้สร้างเกมส์จะแจกจ่าย NFT ให้กับผู้เล่น ก็ใช้ API ของทาง Enjin ในการแจกจ่าย NFT ได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียมใด ๆ ครับ

โดยบน JumpNet จะมีเหรียญ JENJ เป็นโทเคนประจำแพลตฟอร์ม JumpNet ซึ่ง JENJ เป็น pegged token หรือโทเคนที่ถูกตรึงมูลค่าไว้กับ ENJ ซึ่งเป็นโทเคนประจำแพลตฟอร์ม Enjin ซึ่งผู้ใช้งานสามารถส่งเหรียญทั้งสองเหรียญไป-กลับได้ภายในกระเป๋า Enjin ได้เลยครับ

Enjin Beam

เป็นตัวกลางที่จะช่วยให้นักพัฒนาเกมส์หรือศิลปิน NFT สามารถแจกจ่าย NFT ให้กับผู้ใช้งาน ในช่องทางต่าง ๆ ที่สะดวก และเป็นมิตรกับคนที่อาจจะไม่ได้คุ้นเคยกับระบบบล็อกเชนครับ ซึ่งช่องทางที่ว่า ก็มีตั้งแต่สื่อออนไลน์ อีเมล หรือนิตยสารก็สามารถทำได้ครับ

Efinity

Efinity

จริงอยู่ที่ Enjin เริ่มต้นบน Ethereum แต่ผมว่าทุก ๆ คนคงจะทราบดีว่าในตอนนี้ Ethereum กำลังประสบปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมธุรกรรม (gas) ที่แพงมาก ๆ จนหลาย ๆ คนไม่สามารถเข้าไปใช้งานแอพพลิเคชันต่าง ๆ (รวมถึง Enjin) บน Ethereum ได้ ทาง Enjin จึงมองหากระดูกสันหลังอื่น ๆ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ และ Polkadot ก็ดูจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาที่ดีครับ ด้วยค่า gas ที่ถูกกว่า Ethereum และเครือข่ายโปรเจกต์ที่ครอบคลุมการใช้งานที่หลากหลาย (จาก parachains) ดังนั้นทีม Enjin จึงมีการ spin-off ผลิตภัณฑ์ออกมาหนึ่งตัวบน Polkadot โดยตั้งชื่อว่า Efinity ครับ โดยมีลักษณะเหมือนกันกับ Enjin ที่อยู่บน Ethereum แต่ไปทำงานอยู่บน Polkadot แทน ซึ่งในปัจจุบัน Efinity ก็ประมูล Parachain Slot Auction ชนะ และได้สิทธิ์ในการใช้งาน Parachain เรียบร้อยแล้ว ส่วนตัวแอพพลิเคชันก็กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา กว่าจะเปิดให้ใช้งานได้ก็น่าจะใช้เวลาอีกสักพักครับ

โดย Efinity ในช่วงแรก ๆ ก็จะมีการแจกเหรียญ EFI ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชนให้กับคนที่สร้างหรือซื้อ-ขาย NFT และ collator ซึ่งเป็นคนที่คอยตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่าง Parachain กับ Relay Chain ซึ่งเป็นแกนกลางของ Polkadot และจะมีระบบ decentralized governance นั่นคือคนที่ถือ EFI สามารถโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยให้กับ proposal ใหม่ ๆ ของ Efinity ได้ครับ

สำหรับใครที่อยากอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Polkadot ก็สามารถอ่านได้ที่นี่เลยครับ

Tokens

ENJ

ENJ

เป็น ERC-20 token บนบล็อกเชน Ethereum ครับ โดยมีปริมาณอุปทานสูงสุด (maximum supply) อยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญ และมีการแบ่งอุปทานออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน

  1. 40% จำหน่ายในช่วง Pre-sale
  2. 40% จำหน่ายในช่วง Crowdsale (หลังจาก Pre-sale)
  3. 10% ถูกเก็บไว้กับทีม Enjin เพื่อใช้ในการสร้าง incentive ต่าง ๆ เช่น beta testing, marketing และอื่น ๆ
  4. 10% แจกจ่ายให้กับสมาชิกและที่ปรึกษาของทีม Enjin

การใช้งานหลัก ๆ จะเกิดจากสองปัจจัย อย่างแรกคือเวลาเราต้องการจะ mint NFT ออกมา จะต้องทำการ burn ENJ เพื่อเป็นหลักประกันการ mint ครับ อีกหนึ่งปัจจัยคือใช้จ่ายเพื่อซื้อ NFT ภายใน Enjin marketplace ครับ

นอกจากการ mint แล้ว Enjin ยังมีการ melt ซึ่งเป็นกระบวนการย้อนกลับของ mint ครับ นั่นคือ NFT จะถูก burn และจะได้รับ ENJ กลับตามมูลค่าที่ถูก burn ไปในตอนแรก ซึ่งกลไกนี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในเกมส์โดยตรง ในกรณีที่ไอเทมของเรา (สมมติว่าเป็นเกราะ) ถูกมอนสเตอร์โจมตีจนพัง ก็จะต้องมีกลไกการทำลายเกราะชิ้นดังกล่าวใช่ไหมครับ การ melt ตอบโจทย์นี้ได้ดีทีเดียว

ดังนั้นความต้องการของ ENJ จึงแปรผันตามจำนวน NFT ที่ถูก mint ออกมาภายในระบบนิเวศของ Enjin และมูลค่าการซื้อขายภายใน marketplace ครับ ดังนั้นหากมีเกมส์ใหม่ ๆ และมีการ mint NFT ใหม่ ๆ ออกมา demand ของ ENJ ก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาของ ENJ มีการปรับตัวสูงขึ้นนั่นเอง

หนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญของ ENJ คือการวัดสัดส่วนมูลค่าตลาด (market capitalization) ต่อ 1 กระเป๋า (โดยเอา total market capitalization หารด้วย number of wallets) จะพบว่า ENJ มีค่าดังกล่าวคิดเป็นเพียง 50% ของ SAND ซึ่งเป็น utility token ของ The Sandbox ซึ่งเป็นโปรเจกต์ในวงการ NFT เหมือนกัน (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ The Sandbox ได้ที่นี่) นั่นแปลว่า ENJ จะถูกแทรกแซงราคาจากใครคนใดคนหนึ่งได้ยากกว่า SAND เพราะมีการกระจายตัวของการถือครองเหรียญที่สูงกว่าครับ

EFI

EFI

เป็นโทเคนประจำบล็อกเชน Efinity ที่กำลังพัฒนาอยู่ในเครือข่ายของ Polkadot ครับ ซึ่งยังไม่ได้มีการเปิดขายแต่อย่างใด แต่ภาพรวมก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นครับว่าจะมีการแจกเหรียญ EFI ให้กับผู้ใช้งานที่เป็น collator, ผู้ใช้งานที่โหวตออกเสียงในร่างการอัพเกรดโปรเจกต์ (proposal), ผู้ใช้งานที่ซื้อ-ขาย NFT และคนที่เริ่มใช้งานเร็วกว่าคนอื่น (early users) ครับ ในส่วนของการใช้งาน EFI จะถูกใช้เป็นโทเคนในการจ่ายค่าทำธุรกรรม เช่นเดียวกันกับโทเคนประจำบล็อกเชนของ Parachain อื่น ๆ ในเครือข่าย Polkadot และจะใช้เป็น governance token นั่นคือคนที่ถือ EFI เยอะ ก็จะมีอำนาจเยอะในการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างการอัพเกรดของโปรเจกต์ครับ

Use Cases

Azure Heroes

Azure Heroes

เป็นโปรเจกต์ร่วมระหว่าง Enjin และ Microsoft โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ Azure ซึ่งเป็น cloud platform ของ Microsoft ครับ โดยนักพัฒนาจะต้องเรียนรู้ทักษะในด้านเทคนิค (เช่นการเขียนโปรแกรม, การใช้งานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายใน Azure) และมีการช่วยเหลือชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ และจะได้ Badgers (น้องในรูปด้านบน) ซึ่งเป็น NFT ของ Microsoft ที่ถูก mint ใน Enjin ecosystem เป็นรางวัลตอบแทน ซึ่ง Badgers แต่ละตัวก็จะมีระดับความหายากที่แตกต่างกันไป นั่นคือนักพัฒนาที่เก็บแต้มได้เยอะ ก็จะได้ Badgers ที่มีระดับความหายากสูงตามครับ

9Lives Arena

9Lives Arena (source: Enjin)

เป็นเกมส์ online RPG ในรูปแบบ player vs. player ที่ใช้งานแพลตฟอร์ม Enjin ครับ ซึ่งผู้เล่นสามารถเลือกสร้างตัวละครเองตามต้องการได้ เลือกอาวุธ, ความสามารถ และเครื่องแต่งกาย และต่อสู้กับผู้เล่นคนอื่น ๆ เพื่อชนะและได้รางวัลครับ

Roadmap

ในส่วนของ Enjin มีหลาย ๆ อย่างที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาครับ แต่หลัก ๆ จะเป็น Enjin wallet จะมีการเพิ่ม DApp browser ภายในกระเป๋าของ Enjin เพื่อให้เชื่อมต่อกระเป๋ากับ DApp ได้ และจะเพิ่มการเชื่อมต่อกับ Wallet Connect ซึ่งเป็นตัวกลางในการเชื่อมกระเป๋าเงินดิจิทัลในโทรศัพท์มือถือกับหน้า DApp ต่าง ๆ ในเบราว์เซอร์และ Efinity ที่กำลังพัฒนาอยู่บน Polkadot Parachain ซึ่งฟีเจอร์หลัก ๆ ก็จะเหมือนกับ Enjin โดยจะมีการสร้าง JumpNet, สร้างกระเป๋าเงินดิจิทัลของตัวเอง, สร้างฟังก์ชัน smart contract และยังจะมีการสร้างสะพานเชื่อมต่อไปยัง Parachain อื่น ๆ ของ Polkadot เช่น Acala / Astra / Phala / Moonbeam / Clover และอื่น ๆ ครับ

NFT.io

NFT.io

เป็นตลาดซื้อ-ขาย NFT ตัวใหม่ของ Efinity ครับ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาเช่นกัน โดย NFT.io จะมีการนำเสนอ NFT รูปแบบใหม่ ซึ่งทีม Enjin เรียกว่า NFT 2.0 ครับ ซึ่งจะมีรูปแบบของ tokenomics ที่ซับซ้อนขึ้น, มีความเร็วสูงขึ้น, และมีการใส่ smart contract ลงบน NFT ด้วยครับ (ซึ่งรายละเอียดภายในเว็บมีแค่นี้ครับ ด้วยความที่โปรเจกต์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เนื้อหาจึงยังค่อนข้างคลุมเครืออยู่ว่าจะสร้างออกมาอย่างไร ก็รอติดตามเว็บกันต่อไปครับ)

Concerns

ถึงแม้ Enjin เป็นโปรเจกต์ที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอนาคต แต่ตัวโปรเจกต์เองก็ยังเจอความท้าทายในหลาย ๆ ด้านครับ ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคงจะเป็นเรื่องการแข่งขัน ด้วยความที่ Enjin ถูกพัฒนาขึ้นบน Ethereum และมี JumpNet ซึ่งเป็น scaling solutions ที่จะช่วยลดค่า gas แต่ในท้องตลาดก็ยังมีโปรเจกต์ที่สร้างขึ้นมาในรูปแบบดังกล่าว และมีเป้าหมายให้ใช้งานกับ NFT ได้อยู่ หนึ่งในโปรเจกต์เหล่านั้นคือ Immutable X ครับ ซึ่งก็ถูกพัฒนาขึ้นเป็น scaling solution และในปัจจุบันก็มีการปล่อยเกมส์ NFT ออกมาให้เล่นจริงแล้ว ถือเป็นคู่แข่งสำคัญของ Enjin เลยครับ (สำหรับใครที่อยากอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Immutable X สามารถอ่านได้ที่นี่เลยครับ)

อีกหนึ่งความท้าทายนั่นคือแพลตฟอร์มตลาดซื้อ-ขาย NFT อย่าง NFT.io ที่กำลังจะปล่อยออกมาครับ ถึงแม้ Efinity เป็นบล็อกเชนในเครือข่ายของ Polkadot ก็จะทำให้ค่า gas ในการซื้อ-ขายถูกลงใช่ไหมครับ แต่ NFT.io ก็ต้องแข่งขันกับแพลตฟอร์มลักษณะเดียวกันบนบล็อกเชนอื่น ๆ อย่าง Magic Eden หรือ Solanart บนบล็อกเชนของ Solana ครับ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปครับว่าแนวโน้มการซื้อ-ขาย NFT จะมากระจุกอยู่บนบล็อกเชน Efinity ได้หรือไม่

Summary

โลก NFT และ GameFi เพิ่งจะเริ่มต้นครับ เราเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของหลาย ๆ โปรเจกต์ในวงการนี้ ด้วยความที่ไอเทมต่าง ๆ ภายในเกมส์ก็ถือเป็น NFT ชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีบล็อกเชนคอยแสดงความเป็นเจ้าของของผู้ที่ถือครอง ทำให้ NFT และ GameFi เป็นที่พูดถึงค่อนข้างมาก และดูมีอนาคตที่สดใส

Enjin เองก็ถือเป็นหนึ่งในโปรเจกต์เรือธงของวงการครับ ด้วยแนวคิดที่จะเป็นกระดูกสันหลังของเกมส์และ NFT และช่วยเป็นตัวเชื่อมต่อ NFT ระหว่างหลาย ๆ เกมส์ภายในระบบนิเวศ ทำให้ Enjin ถือเป็นแพลตฟอร์มที่จะเรียกว่าเป็น one stop service ของผู้สร้างเกมส์เลยก็ว่าได้ ซึ่งในอนาคต ผมคิดว่าการมาตอบคำถามว่าเกมส์ไหนจะปัง เกมส์ไหนจะพัง มันตอบค่อนข้างยากครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมบอกได้คือ วงการ GameFi จะเติบโตได้อีกไกล และไม่สำคัญว่าเกมส์ไหนจะรุ่งหรือจะร่วงยังไง Enjin ก็จะเติบโตตามวงการ GameFi ไปได้เรื่อย ๆ ครับ

Further Read:

Enjin Official Website: https://enjin.io/

Efinity Official Website: https://efinity.io/

Enjin Whitepaper: https://cdn.enjin.io/downloads/whitepapers/enjin-coin/en.pdf

Efinity Whitepaper: https://efinity.io/whitepaper/introduction

Marketplace: https://enjinx.io/eth/marketplace

NFT.io: https://nft.io/

Azure Heroes: https://www.microsoft.com/skills/azureheroes

--

--

Pasin Sirirat

A Data specialist passionated in Investments currently working in a FinTech startup.