Near Protocol: คู่แข่งสำคัญของ Ethereum
บล็อกเชน smart contract ในปัจจุบันมีอยู่หลายบล็อกเชนนะครับ เราอาจจะเห็นบล็อกเชนต่าง ๆ มีจุดเด่นในด้านความเร็วบ้าง ความง่ายในการใช้งานบ้าง ค่าธรรมเนียม (gas) บ้าง วันนี้ผมจะพาทุก ๆ คนมารู้จักกับบล็อกเชนตัวหนึ่ง ที่หลาย ๆ คนให้เป็นหนึ่งในคู่แข่งสำคัญของ Ethereum ซึ่งเป็นบล็อกเชน smart contract ที่มีมูลค่าสูงที่สุด ซึ่งบล็อกเชนตัวนี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนาต่อยอด และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกอีกด้วย ซึ่งการมีเครื่องมือที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันบล็อกเชนได้ง่าย เปรียบเสมือนการดึงดูดนักพัฒนาให้เข้ามาพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ และขยายฐานผู้ใช้งานไปในตัวครับ วันนี้พาทุกคนมารู้จักกับ Near Protocol กันครับ
What is Near Protocol?
Near Protocol เป็นบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีความง่ายต่อการพัฒนาต่อยอดโดยเฉพาะ บนเว็บไซต์ของ Near Protocol กล่าวว่านักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนของ Near ได้ภายใน 5 นาที ชุดโปรแกรมของ Near Protocol ถูกพัฒนาขึ้นด้วยภาษา Rust ครับ โดยในปัจจุบัน Near Protocol ถูกพัฒนาโดย Near Inc. ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ตั้งอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาครับ
Near Protocol ถูกสร้างขึ้นในปี 2018 โดย Alexander Skidanov และ Illia Polosukhin โดย Alexander เคยเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ Microsoft และได้รับเหรียญทองในการแข่งขัน International Collegiate Programming Contes (ICPC) ซึ่งเป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับมหาวิทยาลัยระดับโลกในปี 2008 ส่วน Illia เคยเป็นหัวหน้าทีมวิศวกรของ Google Research Division และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้าน deep learning และ natural language processing (NLP) โดยทั้งคู่พบกันในงาน Y Combinator ซึ่งเป็นงานสัมมนาที่เปิดโอกาสให้บริษัทสตาร์ทอัพต่าง ๆ ได้มาแสดงผลงานครับ และในปัจจุบัน ทีมพัฒนาของ Near Protocol มีนักพัฒนาหลายคนที่เคยเข้าถึงรอบสุดท้ายของ ICPC อยู่ด้วยครับ
บล็อกเชนของ Near เปิดใช้งาน mainnet ในรูปแบบจำกัดการใช้งาน (restricted version) ในเดือนเมษายน 2020 ครับ ใช้เวลาไม่ถึงสองปีนับตั้งแต่ก่อตั้งโปรเจกต์ ถือว่าเป็นโปรเจกต์บล็อกเชนที่เปิดใช้งานบล็อกเชนใหม่ได้เร็วมาก ๆ เทียบกับโปรเจกต์อื่น ๆ ที่ใช้เวลานานหลายปีครับ และในเดือนตุลาคม 2020 ก็เปิดใช้งาน mainnet เต็มรูปแบบครับ และสำหรับใครที่อยากดูตัวอย่างการใช้งาน หรืออยากทดลองเล่นบล็อกเชน ก็สามารถเข้าไปเล่นได้ที่ Examples ได้เลยครับ
Technology
Consensus Mechanism
Near Protocol ใช้กลไกฉันทามติ delegated Proof-of-Stake (dPoS) ครับ โดยหลักการคือผู้ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชนจะต้องทำการวาง (stake) สินทรัพย์บางอย่างเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อที่ว่ากรณีผู้ตรวจสอบมีความตั้งใจจะปลอมแปลงหรือแก้ไขข้อมูลบนบล็อกเชนและถูกจับได้ สินทรัพย์ค้ำประกันดังกล่าวจะถูกริบครับ
Sharding
Sharding เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความเร็วในการประมวลผลธุรกรรมให้กับบล็อกเชนครับ โดยจะทำการแบ่งบล็อกเชน จากเดิมที่มีอยู่เส้นเดียว ให้กลายเป็นเส้นย่อยหลาย ๆ เส้น ซึ่งจะทำงานขนานกันไป เปรียบเสมือนการขยายถนนจากเลนเดียวเป็นสี่เลนครับ จะทำให้จำนวนรถที่วิ่งผ่านถนนสายดังกล่าวต่อหนึ่งหน่วยเวลาเพิ่มขึ้น ในบล็อกเชนก็เช่นกันครับ การแบ่งบล็อกเชนเป็นเส้นย่อยก็จะทำให้จำนวนธุรกรรมที่ประมวลผลได้ในหนึ่งหน่วยเวลาเพิ่มขึ้นเช่นกัน Near Protocol ใช้เทคโนโลยี sharding ของตัวเองที่มีชื่อว่า Nightshade ครับ โดยในปัจจุบันมีจำนวน shard ทั้งหมด 4 shards ด้วยกัน โดยแต่ละ shard สามารถประมวลผลธุรกรรมได้ 1,000 ธุรกรรมต่อวินาที (transactions per second: tps) ครับ นั่นแปลว่าบล็อกเชนของ Near Protocol สามารถประมวลผลธุรกรรมได้ 4,000 tps ครับ และในแต่ละ shard ของ Near Protocol จะประกอบไปด้วยผู้ตรวจสอบ (validator) ทั้งหมด 100 nodes ซึ่ง Near Protocol จะมีกลไกในการสุ่มผู้ตรวจสอบไปยัง node ต่าง ๆ ครับ
Doomslug
เป็นกระบวนการการเขียนบล็อกใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยทีมพัฒนาของ Near Protocol ครับ โดยวิธีการเขียนบล็อกของบล็อกเชนของ Near Protocol คือในแต่ละรอบการเขียนบล็อก จะมีการสุ่มผู้ตรวจสอบที่มีสิทธิในการเขียนบล็อกมากลุ่มหนึ่ง เพื่อเขียนบล็อกปัจจุบัน และในบล็อกถัดไปก็จะมีการสุ่มผู้ตรวจสอบกลุ่มใหม่อีกหนึ่งครั้ง Doomslug เป็นกลไกการเชื่อมต่อการเขียนบล็อกในแต่ละครั้งครับ โดยเมื่อเขียนบล็อกสำเร็จในแต่ละครั้ง และระบบทำการสุ่มผู้ตรวจสอบชุดใหม่แล้ว ผู้ตรวจสอบชุดปัจจุบันที่เขียนบล็อกดังกล่าวจะทำการส่งข้อความยืนยันความถูกต้องของบล็อกดังกล่าวไปให้กับผู้ตรวจสอบชุดใหม่ ซึ่งผู้ตรวจสอบชุดใหม่ก็จะต้องทำการตรวจสอบและเขียนบล็อกใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนด (เป็นค่าคงที่ที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แรก) และส่งข้อความยืนยันความถูกต้องไปให้กับผู้ตรวจสอบชุดถัดไป ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ครับ ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ผู้ตรวจสอบไม่สามารถเขียนบล็อกใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ตรวจสอบชุดปัจจุบันที่เขียนบล็อกแรกสำเร็จไปแล้ว จะส่งข้อความยืนยันความถูกต้อง ข้ามไปยังผู้ตรวจสอบชุดถัดไป พร้อมกับข้อความอีกหนึ่งข้อความที่ระบุว่าจะข้ามการเขียนบล็อกไปหนึ่งบล็อกครับ
Rainbow Bridge
เป็นสะพานเชื่อมบล็อกเชนของ Near Protocol เข้ากับบล็อกเชนของ Ethereum ครับ โดยมีลักษณะการทำงานเป็น trustless bridge หมายความว่าการส่งโทเคนข้ามบล็อกเชนไม่จำเป็นจะต้องมีการอนุมัติจากหน่วยงานกลางใด ๆ (สมมติจะโอน ETH จาก Ethereum มาที่ Near Protocol ถ้าหากธุรกรรมบนฝั่ง Ethereum สำเร็จ โทเคนจะถูกโอนมายัง Near Protocol ทันทีครับ) และความพิเศษอีกหนึ่งอย่างคือ Near Protocol จะมีการส่งข้อมูลต่าง ๆ บนบล็อกเชนของตัวเอง กลับไปยังบล็อกเชนของ Ethereum ด้วยครับ ซึ่งข้อมูลที่ว่านั้นรวมถึงปริมาณ ETH ที่อยู่บนบล็อกเชนของ Near Protocol ของกระเป๋าแต่ละกระเป๋า นั่นแปลว่าผู้ที่ถือ ETH บนบล็อกเชนของ Near Protocol สามารถโหวตเพื่อลงคะแนนเสียงใน Ethereum (ที่มีกลไกฉันทามติ proof-of-stake) โดยใช้ ETH บนฝั่ง Near Protocol แทนน้ำหนักในการโหวตได้เลย โดยไม่ต้องข้ามไปทำธุรกรรมที่ฝั่ง Ethereum ครับ
หลังจากการเปิดใช้งานสำเร็จ ผู้ใช้งานสามารถส่งโทเคน ERC-20 บนบล็อกเชน Ethereum จากกระเป๋าเงินดิจิทัลอย่าง Metamask เข้ามายังบล็อกเชนของ Near Protocol ได้สะดวกมาก ๆ ซึ่งโทเคนที่ว่าก็มีตั้งแต่ ETH, AAVE, UNI รวมถึง wrapped token อย่าง WBTC อีกด้วยครับ โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ของ Near Protocol ในปัจจุบันการส่งโทเคนจาก Ethereum มายัง Near Protocol ใช้เวลาประมาณ 6 นาที และมีค่าธรรมเนียมธุรกรรม (gas) เฉลี่ยอยู่ที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการส่งโทเคนจาก Near Protocol ไปยัง Ethereum จะใช้เวลานานที่สุดอยู่ที่ 16 ชั่วโมง (เนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ปิดบล็อกของ Ethereum ค่อนข้างนาน) และมีค่า gas อยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐ (เนื่องจากค่า gas ของ Ethereum ในปัจจุบันยังคงแพงอยู่) ครับ
Governance
เนื่องจากกลไกฉันทามติของ Near Protocol เป็น proof-of-stake ดังนั้นเสียงโหวตของผู้ใช้งานจะขึ้นอยู่กับปริมาณ NEAR ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชนที่ถูกวาง (stake) ไว้ ในร่างการอัปเกรดต่าง ๆ บน Near Protocol จะต้องมีผลโหวตอย่างน้อย 2 ใน 3 ของปริมาณ NEAR ที่ถูก stake ไว้ทั้งหมด จึงจะถือว่าผ่านการรับรองจากชุมชนผู้ใช้งาน โดย Near Protocol จะมี governance board ไว้สำหรับชุมชนผู้ใช้งาน กรณีที่จะเสนอร่างการอัปเกรดหรือโหวตลงคะแนนร่างต่าง ๆ ก็สามารถทำได้ผ่านกระดานที่กล่าวไปข้างต้นได้เลยครับ
ระบบ governance ของ Near Protocol ถูกใช้งานในหลากหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องจำนวน shard ครับ ถ้าดูที่โครงสร้างการออกแบบแล้ว บล็อกเชนของ Near Protocol จะมีจำนวน shard เท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งการโหวตเพิ่มหรือลดจำนวน shard ก็จะขึ้นอยู่กับชุมชนครับ
Near Wallet
ถ้าหากพูดถึงกระเป๋าเงินคริปโตเคอร์เรนซี หลาย ๆ คนน่าจะคิดถึงที่อยู่กระเป๋าที่เป็นตัวอักษรผสมตัวเลขยาว ๆ (เช่น 0xabcd….) ใช่ไหมครับ ซึ่งสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป อาจจะไม่ค่อยสะดวกนักที่จะต้องมาจดที่อยู่กระเป๋าเงินที่เราต้องการจะส่งโทเคนไปให้ Near Protocol จึงมีการสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัลประจำบล็อกเชนตัวเองที่ชื่อว่า Near Wallet ครับ โดยคุณลักษณะพิเศษของกระเป๋าตัวนี้คือเราจะสามารถตั้งชื่อให้กับกระเป๋าได้ ซึ่งชื่อดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นชื่อผู้ใช้งานแล้วตามด้วย .near (เหมือนกับที่อยู่โดเมนเลยครับ) และเวลาส่งโทเคนไปให้ผู้อื่น เราสามารถส่งไปยัง “ชื่อ” ของกระเป๋าปลายทาง แทนที่จะใช้ที่อยู่กระเป๋ายาว ๆ ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับการใช้งานบล็อกเชนได้มากเลยครับ
Aurora
เป็นบล็อกเชนที่ถูกสร้างขึ้นเป็น layer 2 ของ Near Protocol ครับ โดยเป็นบล็อกเชนที่มีลักษณะ Ethereum virtual machine (EVM) compatible นั่นคือสามารถนำเอาแอปพลิเคชันต่าง ๆ บนบล็อกเชนของ Ethereum มาเปิดใช้งานบนบล็อกเชนของ Aurora ได้ทันที แต่แอปพลิเคชันดังกล่าวจะทำงานร่วมกับบล็อกเชนของ Near Protocol แทน Ethereum ครับ แปลว่าผู้ใช้งานจะสามารถใช้งานแอปพลิเคชันเสมือนใช้งานบน Ethereum แต่มีความเร็วในการประมวลผลธุรกรรมที่เร็วกว่า และมีค่า gas ที่ถูกกว่า เนื่องจากแอปพลิเคชันทำงานบน Near Protocol ครับ ซึ่งการจ่ายค่า gas บน Aurora จะต้องจ่ายด้วย ETH ครับ
Aurora มาพร้อมกับ Aurora Plus ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากทีมพัฒนาของ Aurora เองครับ ซึ่ง Aurora Plus เปรียบเสมือนโปรแกรมสมาชิกสำหรับผู้ใช้งาน Aurora โดยผู้ที่สมัครสมาชิก Aurora Plus จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ได้รับการยกเว้นค่า gas 50 ครั้งต่อเดือน และได้รับรางวัลจากการ stake AURORA ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Aurora ที่สูงขึ้น และมีสิทธิในการได้รับ NFT จาก Aurora เองอีกด้วยครับ โดยผู้ใช้งานที่ต้องการจะสมัครสมาชิก สามารถเข้าไปที่หน้าลงทะเบียน ทำการเชื่อมกระเป๋า Metamask, กรอกอีเมล และทำการ stake AURORA ก็จะถือว่าเป็นสมาชิก Aurora Plus เรียบร้อยแล้วครับ
Tokens
NEAR
เป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Near Protocol ครับ อ้างอิงจาก CoinGecko ในปัจจุบัน (กันยายน 2022) NEAR มีมูลค่าตลาด (market capitalization) ประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 29 ของคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมด ในส่วนของอุปทาน ณ บล็อกเริ่มต้น (genesis block) ของ Near Protocol มี NEAR ถูกผลิตออกมาทั้งหมด 1 พันล้านเหรียญ และมีการระดมทุน initial coin offering (ICO) ในเดือนสิงหาคม 2020 และมี NEAR กว่า 120 ล้านเหรียญ (คิดเป็น 12%) ที่ถูกขายไปในการระดมทุนดังกล่าว (แต่มีเพียง 25 ล้านเหรียญที่ถูกปลดล็อกในวันแรกที่เปิดใช้งานบล็อกเชนครับ ส่วนที่เหลือจะมีระยะเวลาทยอยปลดล็อกอยู่ที่ 1–2 ปี) ส่วน 88% ที่เหลือถูกแบ่งสัดส่วนตามนี้ครับ
- 17.6% ถูกขายให้กับผู้สนับสนุนในการระดมทุนแบบปิด (private funding) ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2017 ครับ
- 17% ถูกแบ่งไว้สำหรับการขยายชุมชนผู้ใช้งาน ซึ่งรวมถึงการแจก airdrop และการระดมทุนจาก venture capital (VC)
- 14% ถูกแบ่งให้กับทีมพัฒนา Near Protocol
- 11.4% ถูกแบ่งไว้สำหรับการสนับสนุนการทำงานของ Near Protocol
- 11% ถูกแบ่งไว้สำหรับการพัฒนาระบบนิเวศการใช้งานของ Near Protocol ซึ่งไม่ได้มีการลงรายละเอียดชัดเจนในส่วนนี้ครับ
- 10% ถูกแบ่งให้กับ Near Foundation
สำหรับ NEAR ที่ถูกจ่ายออกมาเป็นค่าตอบแทนสำหรับการเขียนบล็อกใหม่ 90% ของก้อนดังกล่าวจะถูกแจกจ่ายให้กับผู้ตรวจสอบ และอีก 10% จะถูกแบ่งให้กับ Near Treasury ครับ
ในส่วนของการใช้งานหลัก ๆ จะมาจากการใช้ชำระเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม (gas) ครับ โดยทุก ๆ ธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนของ Near Protocol จะต้องจ่ายค่า gas ด้วย NEAR ซึ่งถ้าหากธุรกรรมดังกล่าวเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) 30% ของค่าธรรมเนียมจะจ่ายให้กับเจ้าของสัญญาดังกล่าว ส่วนอีก 70% จะถูกเผาทิ้ง (burn) ครับ และถ้าหากธุรกรรมดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัญญาอัจฉริยะ (เช่นเป็นการโอนโทเคนไปยังกระเป๋าอื่น) ค่าธรรมเนียมจะถูกเผาทิ้งทั้งหมดครับ
การใช้งานอีกส่วนจะมาจากผู้ตรวจสอบ (validator) ครับ โดยผู้ที่ต้องการจะเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมจะต้องวาง (stake) NEAR เพื่อเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน ตามที่กล่าวไปข้างต้นครับว่าบล็อกเชนของ Near Protocol แบ่งออกเป็น 4 shards และแต่ละ shard มีจำนวนผู้ตรวจสอบอยู่ที่ 100 nodes แปลว่าผู้ตรวจสอบจะต้องวาง NEAR ด้วยมูลค่าที่มากพอที่จะเข้าไปอยู่ใน 100 nodes แรกที่มีมูลค่า NEAR สูงสุดของแต่ละ shard เพื่อที่จะรับสิทธิการตรวจสอบธุรกรรมครับ
สำหรับใครที่ไม่ได้ต้องการจะเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมก็สามารถเป็นผู้ฝาก (delegator) และฝาก (delegate) NEAR กับผู้ตรวจสอบอื่น ๆ ได้ครับ โดยอัตราผลตอบแทนปัจจุบัน (กันยายน 2022) อยู่ที่ 10.97% สำหรับ validator และ 10.09% สำหรับ delegator ครับ
USN
เป็น stablecoin ประจำบล็อกเชนของ Near Protocol ซึ่งถูกตรึงมูลค่าไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (1 USN = 1 USD) ครับ ถูกสร้างขึ้นในเดือนเมษายน 2022 โดยมีจุดประสงค์ในการเพิ่มสภาพคล่องและเพิ่มความหลากหลายของการใช้งาน Near Protocol และไม่ได้มีการกำหนดปริมาณอุปทานสูงสุด (maximum supply) ครับ
ในส่วนของกลไกการตรึงมูลค่า USN จะมีทั้งสินทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งในปัจจุบันคือ NEAR และ USDT ซึ่งเป็น stablecoin อีกหนึ่งตัว ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้ถูกเก็บไว้กับกองทุนสำรองของ Near Protocol เองครับ และมีกลไกอีกส่วนหนึ่งที่เป็นกลไก mint-and-burn เช่นเดียวกันกับ (อดีต) UST ที่ใช้ (อดีต) LUNA เป็นโทเคนในการตรึงมูลค่าครับ กลไก mint-and-burn คือกลไกที่สามารถใช้โทเคนตัวหนึ่ง แลกเป็น stablecoin หรือทำย้อนกลับได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเก็งกำไรส่วนต่าง (arbitrage) ขึ้นบนบล็อกเชน และจะช่วยให้มูลค่าของ stablecoin อยู่ในจุดที่ควรจะเป็นครับ
แต่สิ่งที่เราเห็นในช่วงเดือนมิถุนายน 2022 ที่ผ่านมาคือการล่มสลายของ Terra และการไม่สามารถตรึงมูลค่าของ UST ได้ นั่นเป็นจุดอ่อนของ stablecoin ที่ใช้กลไก mint-and-burn เพียงอย่างเดียว (ถึงแม้ Luna Foundation Guard จะเร่ิมทยอยซื้อ BTC ในช่วงนั้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะใช้พยุงราคาของ UST ได้) ทีมพัฒนาของ Near Protocol เห็นจุดอ่อนในข้อนี้ จึงมีการเก็บสะสม NEAR และ USDT ไว้ในกองทุนสำรองตั้งแต่แรก เผื่อกรณีฉุกเฉินเช่นเดียวกันกับที่ UST จะเกิดขึ้นอีกครั้งครับ
AURORA
เป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Aurora ครับ (แต่ไม่ใช่โทเคนที่เอาไว้จ่ายค่า gas) โดยหน้าที่ของ AURORA คือการเป็น governance token ครับ หมายความว่าผู้ที่ถือครอง AURORA จะได้สิทธิในการโหวตแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างการอัปเกรดต่าง ๆ ของบล็อกเชนครับ โดย AURORA มีปริมาณอุปทานสูงสุดอยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญ และมีการแบ่งสัดส่วนอุปทานดังนี้
- 40% ถูกเก็บไว้กับ Aurora DAO สำหรับการสนับสนุนโปรเจกต์ต่าง ๆ ในอนาคต
- 20% ถูกเก็บไว้เป็นทุนสำรองของชุมชนผู้ใช้งาน
- 16% ถูกเก็บไว้เป็นค่าตอบแทนสำหรับนักพัฒนาใน Aurora Labs ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนา Aurora
- 9% ถูกแจกจ่ายให้กับนักลงทุนในรอบการระดมทุนแบบปิด
- 3% ถูกแบ่งไว้เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้กับผู้ตรวจสอบบนบล็อกเชนของ Aurora
- 2% ถูกแบ่งให้กับผู้สนับสนุนกลุ่มแรกของโปรเจกต์
- ส่วนที่เหลือจะถูกแบ่งไว้เป็นทุนสำหรับการพัฒนาระบบนิเวศของ Aurora เช่นการจัดแข่ง hackathon และแบ่งให้กับที่ปรึกษาโปรเจกต์ครับ
Roadmap
ทีมพัฒนา Near Protocol มีแผนที่จะอัปเกรดบล็อกเชนในหลากหลายด้านครับ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดสามารถเข้าไปดูได้ที่ development roadmap ครับ ในบทความนี้ผมจะยกตัวอย่างแผนการพัฒนาที่น่าสนใจมาสักเล็กน้อยนะครับ
Dynamic Resharding
ตามที่กล่าวไปข้างต้นครับว่าบล็อกเชนของ Near Protocol สามารถเพิ่มหรือลดจำนวน shards ของบล็อกเชนได้ ซึ่งในปัจจุบันการจะเปลี่ยนแปลงจำนวน shard จะเป็นการกำหนดค่าจากทีมพัฒนาแล้วอัปเกรดโค้ดของบล็อกเชน แต่ในอนาคตทีมพัฒนาของ Near Protocol มีแผนที่จะ dynamic resharding นั่นคือทำให้ตัวบล็อกเชนของ Near Protocol สามารถเพิ่มหรือลดจำนวน shard ได้โดยอัตโนมัติ โดยแนวคิดเบื้องหลังคือถ้าหาก shard ใด shard หนึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานที่สูงเกินค่าที่กำหนดไว้ ตัวโปรแกรมจะทำการแบ่ง shard ดังกล่าวออกเป็นสอง shard ย่อยโดยอัตโนมัติ และถ้าหากมี 2 shards ที่มีผู้ใช้งานน้อย ตัวโปรแกรมจะทำการรวม 2 shards ดังกล่าวให้กลายเป็น shard เดียวครับ
ในทางทฤษฎีแล้ว การทำ dynamic resharding จะทำให้บล็อกเชนของ Near Protocol มีคุณลักษณะในการขยายตัวเพื่อรองรับฐานผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น (scalability) ที่ไม่สิ้นสุดครับ ซึ่งทีมพัฒนาของ Near Protocol มีแผนจะพัฒนา dynamic resharding ให้เสร็จเรียบร้อยภายในปี 2022 นี้ครับ
Octopus Network x Near Protocol
ในเดือนเมษายน 2022 ที่ผ่านมา Near Protocol ประกาศการจับมือเป็นพันธมิตรกับ Octopus Network ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่สร้างเครือข่ายของบล็อกเชน เพื่อให้บล็อกเชนแต่ละบล็อกเชนสามารถเชื่อมต่อกันได้ครับ ซึ่ง Near Protocol ได้ลงทุนใน Octopus Network มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Octopus Network ได้เลือกบล็อกเชนของ Near Protocol เป็นบล็อกเชนหลักในการนำบล็อกเชนอื่น ๆ มาเชื่อมต่อด้วยครับ
ความน่าสนใจของการจับมือครั้งนี้คือ Octopus Network ถูกสร้างขึ้นด้วย Substrate ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือในการสร้างบล็อกเชนที่ถูกพัฒนาโดย Gavin Wood ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Polkadot ในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงประมูล parachain slot auction (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Polkadot ได้ที่นี่) นอกจากนี้ Octopus Network เองมีชุดโปรแกรมที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบนิเวศของ Cøsmos อีกด้วย (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Cøsmos ได้ที่นี่) นั่นแปลว่าในอนาคต Near Protocol จะสามารถเชื่อมต่อกับทั้ง Polkadot และ Cøsmos ซึ่งเป็นสองโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ที่สร้างระบบนิเวศของบล็อกเชนครับ ถ้าหากการเชื่อมต่อดังกล่าวเกิดขึ้นจริง มูลค่าของบล็อกเชนของ Near Protocol น่าจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยเลยครับ
Concerns
Transparency
โดยปกติแล้ว โปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีจะมีการทำรายงานความโปร่งใส (transparency report) ออกมาเป็นระยะ ๆ ครับ โดยจุดประสงค์ของการทำรายงานดังกล่าวคือเพื่อแสดงความโปร่งใสของการดำเนินไปของโปรเจกต์ เช่น มีการใช้เงินไปกับอะไรบ้าง ลงทุนในโปรเจกต์ไหนบ้าง มีแคมเปญโปรโมตอะไรบ้าง รวมถึงการสรุปตัวเลขสำคัญต่าง ๆ เช่นอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งาน, จำนวนแอปพลิเคชันและมูลค่าสินทรัพย์บนบล็อกเชน รวมถึงแผนพัฒนาต่าง ๆ ในอนาคตครับ ความน่าแปลกใจคือทีมพัฒนาของ Near Protocol ไม่เคยมีการทำรายงานดังกล่าวออกมาเลยครับ ในขณะที่มีการลงทุนในโปรเจกต์ต่าง ๆ ด้วยเงินมูลค่ามหาศาล ซึ่งประเด็นนี้ก็เคยถูกพูดถึงใน governance board ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการจัดทำรายงานความโปร่งใสออกมาครับ
อีกหนึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความโปร่งใสคือเรื่องที่อยู่กระเป๋าเงินดิจิทัลของทาง Near Protocol และองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องครับ ในเว็บไซต์ block explorer ของบล็อกเชนอื่น ๆ เช่น Ethereum หรือ BNB Chain จะมีการติดป้ายชื่อกระเป๋าเอาไว้ กรณีกระเป๋าเป็นของตัวบล็อกเชนเอง แต่สำหรับ block explorer ของทั้ง Near Protocol และ Aurora ไม่ได้มีการติดป้ายดังกล่าวเอาไว้ ทำให้เราไม่สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของโทเคนของกระเป๋าเหล่านี้ได้ครับ
Competition
นอกเหนือจาก Ethereum ที่เป็นคู่แข่งสำคัญของ Near Protocol แล้ว อีกหนึ่งคู่แข่งที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ Solana ครับ ที่จริงแล้ว Near Protocol และ Solana เป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่มีความคล้ายคลึงกันสูงมาก ๆ และภาษาที่ใช้ในการพัฒนาก็ยังเป็นภาษา Rust เหมือนกัน นอกจากนี้ Near Inc. และ Solana Labs ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนา Solana ยังตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียเหมือนกันอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งกันทางตรงทั้งในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และการหานักพัฒนามาร่วมทีมครับ (สำหรับใครที่สนใจอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Solana สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่เลยครับ)
Summary
Near Protocol ถือเป็นหนึ่งในโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่น่าจับตามองครับ ถ้าหากดูจากประวัติของผู้ก่อตั้งโปรเจกต์แล้ว ถือว่าไม่ธรรมดา และ Near Inc. ที่พัฒนาบล็อกเชนก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมหัวกะทิด้านเทคโนโลยี ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ Near Protocol มีศักยภาพในการเติบโตเป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ได้ไม่ยากเลยครับ แต่ในขณะเดียวกัน ตัวโปรเจกต์เองก็ยังมีประเด็นที่น่ากังวลอยู่หลายประเด็นด้วยกัน ทั้งเรื่องความโปร่งใสและคู่แข่ง โดยเฉพาะประเด็นแรกที่อาจจะทำให้ Near Protocol ถูกตรวจสอบและควบคุมโดยผู้ควบคุมจากรัฐบาลกลางของประเทศต่าง ๆ ทำให้การขยายฐานผู้ใช้งานของโปรเจกต์ต้องหยุดชะงักได้ครับ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะสามารถพัฒนาแก้ไขจุดที่น่ากังวลเหล่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากทำได้ Near Protocol จะเป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่น่าจับตามองมาก ๆ ครับ
Further Read
Official Website: https://near.org/
Whitepaper: https://near.org/papers/the-official-near-white-paper/
Rainbow Bridge: https://near.org/blog/eth-near-rainbow-bridge/
Aurora: https://aurora.dev/
Aurora Plus: https://aurora.plus/